วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์

เที่ยวปลายฝนต้นหนาว ดูดอกไม้กลางสายหมอก

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว นับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีภูมิทัศน์งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เทือกดอยที่สลับซับซ้อนมีแนวเขาติดกับเอกเจาแดนลาวยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้หลากชนิด น้ำตกภูสอยดาวที่สวยที่สุดก็เกิดจากป่าผืนเดียวกันนี้ เนื้อที่ถึง 1,000 ไร่ บนลานสนยังงดงามด้วยไม้ป่าที่บานคลุมดินอยู่ทั่วบริเวณ คนที่ชื่นชอบการนอนภูดูดอกไม้ต่างอยากให้ลมหนาวมาเยือนเร็วขึ้น

พื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว เป็นป่าสนสามใบ นับเป็นบริเวณที่สำคัญเพราะมวลไม้ดอกชุช่ออยู่ภายในทุ่งหญ้าใต้ป่าสนแห่งนี้

ที่ตั้ง ภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อำเภอน้ำปาด ห่างจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณ 133 กิโลเมตร

ช่วงเวลาที่เหมาะสม เดือนสิงหาคม – ตุลาคม เที่ยวน้ำตกภูสอยดาว ชมทุ่งดอกไม้และทะเลหมอกบนลานสน เดือนพฤศจิกายน-มกราคม เที่ยวน้ำตก ชมทะเลหมอก ดูทุ่งเมเปิลเปลี่ยนสี

การเดินทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ

· จากจังหวัดพิษณุโลก ใช้ทางหลวงหมายเลข 11 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1246 เมื่อถึงบ้านแพะ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1143 ผ่านอำเภอชาติตระการ ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 1237 ผ่านบ้านบ่อภาคจนถึงทางหลวงหมายเลข 1268 ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 188 กิโลเมตร

· จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1047 (อุตรดิตถ์-น้ำปาด) ผ่านเขื่อนสิริกิติ์ เข้าสู่อำเภอน้ำปาดระยะทาง 68 กิโลเมตร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 1239 ทางไปบ้านห้วยมุ่นอีกประมาณ 47 กิโลเมตร จากบ้านห้วยมุ่นเดินทางต่อตามทางหลวงหมายเลข 1268 อีก 18 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานฯ รวมระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติน้ำปาด ในเขตตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก อำเภอห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อที่ประมาณ 200.18 ตารางกิโลเมตร หรือ 125,110 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ปกคลุมไปด้วยธรรมชาติที่งดงาม และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จุดเด่นที่น่าสนใจคือ น้ำตกภูสอยดาวที่ยิ่งใหญ่มีความสูงถึง 5 ชั้น

ภูมิประเทศทั่วไปของอุทยานฯ เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติที่ติดต่อกับเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีความสูงเฉลี่ยตั้งแต่ 500 – 1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเล มียอดเขาภูสอยดาวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด คือ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,102 เมตร สูงเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาถึงร้อยละ 85 ส่งผลให้มีอากาศเย็นสบายตลอดปี

ช่วงเวลาท่องเที่ยวภูสอยดาว หากมีจุดประสงค์มาชมทุ่งดอกไม้ ควรมาในช่วงปลายเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี หากลมหนาวมาเร็ว ความชุ่มชื้นจะหายไปพร้อมกับดอกไม้ที่แห้งเหี่ยวไปตามสายลม

ภูสอยดาว ใช่ว่าจะมีเพียงวิวดอกไม้และน้ำตกเท่านั้น แต่ความสวยงามของป่าสนยังเป็นจุดเด่นของที่นี่ สวยมากในช่วงเย็นที่มีพระอาทิตย์กำลังจะลับฟ้า

ความสมบูรณ์ของผืนป่าในอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวนั้นมีหลากหลายมาก เนื่องจากมีความแตกต่างผสมผสานระหว่างความสูงของพื้นที่ จึงแยกพื้นที่ป่าได้ดังนี้ คือ

· ป่าสนเขา

พบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,400 เมตร ขึ้นไปเป็นป่าผืนใหญ่ที่ขึ้นเป็นกลุ่ม พืชเด่นที่พบ คือ สนสามใบ พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าชนิดต่าง ๆ เช่น หงอนนาค ดอกกุง เป็นต้น

· ป่าดิบเขา

พบที่ระดับความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ต้นไม้เด่นเช่น ทะโล้ จำปาป่า กำลังเสือโคร่ง พืชพื้นล่าง เช่น พืชตระกูลขิง ข่า กูด และกล้วยไม้ต่าง ๆ

· ป่าดิบชื้น

พบอยู่ทั่วไปในระดับความสูง 400 –1,000 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น กะบาก ยาง ก่อเดือย ก่อรัก พืชพื้นล่าง เช่น สะบ้า กูด และกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ

· ป่าดิบแล้ง

พบมากบริเวณตอนกลางของพื้นที่อุทยานฯ ในบริเวณที่เป็นหุบเขา พันธุ์ไม้ที่ขึ้น เช่น ตะแบกใหญ่ สมพง พะยอม ตะเคียนทอง มะค่าโมง กระบก เป็นต้น

· ป่าเบญจพรรณ

พบทั่วไปในระดับความสูง 300 – 600 เมตร บริเวณที่ราบเชิงเขา

· ป่าเต็งรัง

พบอยู่ทั่วไปในพื้นที่ตอนล่างและตอนบน ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ตามไหล่เขา เนินเขา และที่ราบดินลูกรัง

ด้วยภูมิทัศน์ที่แตกต่างกันในพื้นที่ที่ลดหลั่นของภูเขา จึงมีความหลากหลายของป่าที่สมบูรณ์ ที่เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำปาดและลำน้ำภาค อีกทั้งยังมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นในฤดูฝนและฤดูหนาว จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มี นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนตลอดช่วงเดือน กรกฎาคม – มกราคม ของทุกปี

· สิงหาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่ลานสนสามใบจะมีดอกไม้ดินและดอกไม้ป่าบานสะพรั่งไปทั่วบริเวณ บนลานภูแห่งนี้จะเต็มไปด้วยดอกหงอนนาค ดุสิตา สร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน ดอกหญ้ารากหอม ฯลฯ

· พฤศจิกายน – มกราคม เป็นช่วงฤดูหนาว มีอุณหภูมิต่ำเฉลี่ย 1-5 องศาเซลเซียสเหมาะกับการสัมผัสความหนาวเย็น ชมทะเลหมอก และยังมีดอกกระดุมเงิน บานบนลานสน รวมถึงกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และใบเมเปิลเปลี่ยนสีช่วยเพิ่มสีสันให้กับลานสนสามใบให้น่าสนใจมากขึ้น 15 มกราคม – 30 มิถุนายน ของทุกปี เป็นช่วงปิดป่าไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปบนลานสน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น