วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทุ่งดอกไม้

นับตั้งแต่ฤดูกาลสายฝนมาเยือนไปจนถึงฤดูกาลแห่งสายลมหนาวพัดผ่าน นักท่องเที่ยวทั้งขาจร นักท่องไพร และนักพฤกษศาสตร์ ต่างเตรียมตัว เตรียมใจจัดกระเป๋าเดินทาง เพื่อไปชมความงามของทุ่งดอกไม้ที่แข่งขันกันผลิดอกบานให้ชื่นชม และศึกษากัน แต่การไปยังทุ่งดอกไม้แต่ละสถานที่นั้น ย่อมมีกฎระเบียบช่วงเวลาที่เหมาะสม การศึกษาข้อมูลเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะทุ่งดอกไม้ย่อมมีลักษณะเฉพาะ การได้เรียนรู้ธรรมชาติ ก็เปรียบเสมือนการได้ศึกษาเล่าเรียนในห้องเรียนที่กว้างขวาง หากมีข้อมูลเบื้องต้นก็จะทำให้การเดินชมทุ่งดอกไม้มีสีสัน และน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น

ทุ่งดอกไม้ที่บานเต็มที่ในฤดูฝน ได้แก่ ทุ่งดอกกระเจียวสีชมพูม่วง อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ทุ่งดอกกระเจียวขาวและสีชมพูม่วง อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ การเดินชมนักท่องเที่ยวต้องเดินตามเส้นทางเดินที่ทางอุทยานฯ จัดเตรียมไว้ให้ และไม่ควรหยิบจับดอกไม้ เพราะดอกไม้ที่ชุ่มฉ่ำน้ำจะร่วงโรยได้ง่าย และมีช่วงที่เติบโตรวดเร็ว และเหี่ยวเฉารวดเร็วในเวลาเดียวกันด้วย

ทุ่งดอกไม้ที่บานเต็มที่ในฤดูหนาว ได้แก่ ทุ่งดอกบัวตอง ดอยแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทุ่งดอกทานตะวัน อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

ทุ่งดอกไม้ที่บานเต็มที่ในช่วงฤดูปลายฝน – ต้นฤดูหนาว ได้แก่ ทะเลดอกไม้ภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์ ทุ่งโนนสน อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก ทุ่งดอกไม้บนลานหินที่ภูผาเทิบ อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ทุ่งดอกไม้บนลานหินภูสมุย ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เที่ยวป่าดงนาทาม – ผาชนะได จังหวัดอุบลราชธานี อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว จังหวัดมุกดาหาร

นอกจากนี้แล้วการเดินชมทุ่งดอกไม้นั้น นักท่องเที่ยวต้องเรียนรู้ว่าบางสถานที่นั้น ต้องอาศัยการเดินที่ชำนาญ การเตรียมอุปกรณ์การเดิน และร่างกายให้พร้อม เพื่อจะได้ชมความงามของทุ่งดอกไม้ได้อย่างถึงแก่น แต่นอกจากนี้การศึกษาพรรณไม้ และดอกไม้หายากชนิดอื่น ๆ ที่อาจเจริญเติบโตอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับทุ่งดอกไม้ที่เราไปชื่นชม จะทำให้การเดินชมทุ่งดอกไม้นั้นมีความหลากหลายยิ่งขึ้น

ดอกไม้ที่สามารถพบเห็นได้บริเวณทุ่งดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ดอกหงอนนาค พบมากที่ภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนดอกไม้อื่น ๆ เช่น ดอกสร้อยสุวรรณา (หญ้าสีทอง) ดุสิตา (หญ้าข้าวก่ำน้อย) เอนอ้า มณีเทวา (กระดุมเงิน) ทิพเกสร (หญ้าผอยเล็ก) สรัสจันทร์ (หญ้าหนวดเสือ) จอกบ่วาย หยาดน้ำค้าง (หนามเดือนห้า) กระดุมทอง (หญ้าบัว หรือหญ้าขนไก่) หญ้าข้าวก่ำ หญ้าหมู่ดาว แดงอุบล (เอื้องม้าวิ่ง) เอื้องเหลืองพิศมร (เอื้องนวลจันทร์) ฯลฯ ดอกไม้เหล่านี้จะพบมากในแถบเทือกเขาภาคอีสานที่อยู่ตัดกับแม่น้ำโขง ต้นไม้เหล่านี้มีขนาดเล็กมากต้องอาศัยการสังเกต และควรเดินชมอย่างระมัดระวัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น