วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

“หมู่เกาะอาดัง” สีสันแห่งอันดามันใต้

ทะเลอันดามัน ที่อยู่ในเขตแดนของประเทศไทย เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ประเทศอื่น ๆ ที่มีส่วนเป็นเจ้าของทะเลอันดามัน ได้แก่ พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทะเลอันดามันนับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีธรรมชาติสวยงาม ทั้งเกาะ หาดทราย ปะการัง พันธุ์สัตว์น้ำหลากหลาย ตลอดจนสภาพอากาศแสนสบาย ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยเอง และชาวต่างชาติ เดินทางมาสัมผัสทะเลผืนงามแห่งนี้เป็นจำนวนมาก

กัปตันเรือยอช์ทชาวอเมริกันคนหนึ่งมาทำงานกับผมนาน 6 เดือน เขาเรียกทะเลอันดามันของเราว่า The Friendly Sea คือ ทะเลที่เป็นมิตร เขาเคยทำงานในทะเลคาริบเบียนซึ่งมีปัญหาต่าง ๆ มากมาย หมู่เกาะหนึ่งก็เป็นหนึ่งประเทศ ทำให้การเข้าออกประเทศ ไม่สะดวก ปัญหาการค้ายาเสพย์ติดรุนแรง ทำให้อาชญากรรมสูง ทะเลมีคลื่นแรงตลอดปี ไม่สงบเหมือนทะเลอันดามันของเรา หน้าปลอดมรสุม น่านน้ำไทยก็ไม่มีปัญหาโจรสลัด และที่สำคัญคือคนไทยโดยเฉพาะชาวประมง มีความเป็นมิตรมากกว่าคนชาติอื่น เวลาผมไปจอดเรือใกล้กับเรือประมง ให้แม่ครัวไปขอซื้อปลาที่เรือประมง เขาบอกให้เลือกเอากุ้ง หอย ปู ปลา ตามที่ต้องการ และไม่คิดเงินด้วย เราก็ตอบแทนโดยนำขนม ผลไม้และบุหรี่ไปให้ ผมแบ่งเส้นทางในการท่องทะเลอันดามันเป็นสามเส้นทาง เส้นแรก คือ เล่นเรือจากภูเก็ตไปกระบี่ เกาะพีพี และกลับมาภูเก็ต เส้นที่สอง ได้แก่ เส้นเหนือ จากภูเก็ตไปหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์ใกล้พม่า ส่วนเสนที่สาม คือ เส้นใต้ จากภูเก็ตผ่านเกาะรอก ไปหมู่เกาะอาดังและหมู่เกาะตะรุเตาติดกับมาเลเซีย

ทั้งสามเส้นทางอยู่ใน ทะเลที่เป็นมิตร แผ่นดินไทยจึงไม่ต้องห่วงเรื่องโจรสลัด การเข้าออกประเทศ และอาหารการกิน โดยเฉพาะอาหารทะเล ข้อจำกัดข้อเดียว คือปีหนึ่งเที่ยวได้หกเดือนเท่านั้น เฉพาะหน้าปลอดมรสุม คือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน จนถึง เดือนเมษายน บางปี มรสุมมาช้า ก็อาจเที่ยวเดือนพฤษภาคมได้อีกหนึ่งเดือน ถ้ามองในแง่ดี หน้ามรสุมก็เป็นโอกาสให้ทะเลอันดามันได้พักบ้าง เพราะถ้าให้เที่ยวติดต่อกันได้ทั้งปี ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะและแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมก็จะเพิ่มมากขึ้น

ในบทที่แล้วผมเริ่มที่หมู่เกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นใต้ จึงขอต่อด้วยหมู่เกาะอื่น ๆ ในเส้นใต้ให้ครบ ตามปกติผมเดินทางไปหมู่เกาะอาดัง โดยเริ่มต้นจากภูเก็ตเพราะเรือของผมจอดอยู่ที่นั่น แล่นเรือจากอ่าวฉลองที่ปลายเกาะภูเก็ต ไปเกาะรอกใช้เวลา 4 ชั่วโมง จะพักที่นั่นหนึ่งคืน ซึ่งเป็นเกาะที่ผมชอบมากที่สุดเกาะหนึ่ง จากเกาะรอกไปอีก 4 ชั่วโมง ก็จะถึงหมู่เกาะอาดังซึ่งประกอบด้วย 4 เกาะใหญ่ได้แก่ เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะบูตังหรือเกาะดัง และเกาะหลีเป๊ะเรียงรายอยู่ใกล้เคียงกัน หมู่เกาะนี้เป็นหมู่เกาะสุดท้ายในเขตแดนไทย

เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะบูตังเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติของทางทะเลตะรุเตา ส่วนเกาะหลีเป๊ะมีชาวเลอยู่ประมาณ 600 คน อยู่นอกเขตอุทยานฯ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศอังกฤษได้ขยายอาณานิคมบนแหลมมลายูขึ้นมาทางเหนือติดเขตแดนไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า จึงได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองจังหวัดสตูล รวบรวมชาวเลที่อยู่กระจัดกระจายตามเกาะต่าง ๆ ให้มารวมกันตั้งบ้านเรือนบนเกาะอาดังและเกาะหลีเป๊ะ เพื่อแสดงให้ให้อังกฤษเห็นว่าบนเกาะเหล่านี้มีคนไทยอาศัยอยู่แล้ว จึงสมควรเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทย ทางอังกฤษยอมรับเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ทั้งเกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดังเป็นของไทยมาตราบเท่าทุกันนี้

เกาะทั้งสี่และเกาะเล็ก ๆ อีกหลายเกาะมีธรรมชาติและหาดทรายที่สวยงาม ผมเคยนั่งเรือรอบทั้งสี่เกาะและพยายามนะนับว่ามีหาดทรายทั้งหมดเท่าไหร่ ผมนั่งนับมาได้ 40 หาดเลยเลิกนับ เพราะยังเหลืออีกไกลกว่าจะครบทั้งสี่เกาะ เลยสรุปว่ามีหาดทรายมากกว่า 40 หาด ถ้าท่านอยากมีหาดส่วนตัววันละหาด ท่านเช่าเรือหางยาวจากเกาะหลีเป๊ะ ไปเลือกได้เลยว่าวันไหนจะอยู่ที่หาดใด ทุกหาดที่ท่านขึ้นไปจะเห็นปูเสฉวนมากมาย กรุณาปล่อยเขาไว้ที่นั่นให้เป็นเอกลักษณ์ของหมู่เกาะอาดัง ให้เป็นแหล่งที่มีปูเสฉวนมากที่สุด อย่าเก็บไปเลี้ยงที่บ้านให้เป็นบาปติดตัวเลย เพราะเขาต้องตาย ๆ แน่ ๆ บนเกาะอาดังมีที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ และมีสวนสนที่ร่มรื่นและหาดทรายขาหน้าที่ทำการ แต่เสียดายที่เมื่อสองปีที่แล้วมรสุมแรงมาก ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของสวนสนถูกคลื่นซัดหายไป แต่ธรรมชาติก็มีการชดเชยให้เสมอ เมื่อด้านใต้ของสวนสน ถูกเซาะหายไปก็เกิดหาดงอกขึ้นมาด้านตะวันออกของสวนสน ซึ่งต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าจะได้สวนสนที่ร่มรื่นกลับคืนมา ผมชอบจอดเรือหน้าหาดทรายด้านตะวันตกของเกาะอาดัง เพราะมีเกาะอาดังบังคลื่นลม ทำให้เรือจอดได้นิ่ง และด้านนั้นมีหาดทรายยาวติดต่อกันหลายหาดและยังมีน้ำจืดไหลลงทะเลจากยอดเขาเป็นช่วง ๆ จึงเป็นจุดที่ชาวประมงมาจอดเรือ เพื่อนำน้ำจืดไปใช้บนเรือ พูดถึงป่าบนเกาะอาดังนับว่ายังสมบูรณ์มาก มีต้นยางสูงใหญ่จำนวนมาก และมีน้ำตกหลายแห่ง


ท่านที่ชอบเดินป่าควรเดินตามลำธารซึ่งไหลลงมาตามโขดหิน เมื่อขึ้นไปบนเขาจะเห็นความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่เราไม่รู้จัก และน่าศึกษา ท่านที่ชอบเดินหาด ควรเดินแต่เช้าเพราะแดดยังไม่ร้อนและอากาศสบายมาก ผมจะเดินเล่นบนหาดทรายตั้งแต่ 7 โมงเช้า หลังทานอาหารเช้า เวลาขึ้นบกผมสะพายกล้องถ่ายรูปไปด้วยเสมอ วันหนึ่งหลายปีมาแล้ว ขณะที่ผมเดินอยู่บนหาดด้านตะวันตกของเกาะอาดัง ผมมองเห็นอะไรสีขาวไหว ๆ อยู่ข้างหน้า เดินเข้าไปใกล้ก็เห็นปูเสฉวนตัวใหญ่ตัวหนึ่งแต่สิ่งที่เขาอาศัยอยู่แทนที่จะเป็นเปลือกหอยตามปกติ กลับเป็นกระป๋องแป้งตัดครึ่ง สิ่งที่เห็นวันนั้น ได้จุดประกายให้ผมสนใจในปูเสฉวนและต้องการอนุรักษ์ปูเสฉวนไว้ เพราะบนเกาะต่าง ๆ ทั้งในอ่าวไทยและในทะเลอันดามัน แทบจะไม่เห็นปูเสฉวนอีกแล้ว แต่ที่หมู่เกาะอาดังยังมีอยู่อีกมากมาย ปูเสฉวนเกิดในทะเล โดยไม่มีเปลือกหอยติดมากับตัว และเมื่อเริ่มโตจะขึ้นฝั่งหาเปลือกหอยที่ว่างเข้าอาศัยอยู่ และจะเปลี่ยนเปลือกหอยตามขนาดของตัวที่โตขึ้นตลอดเวลา จุดขายอันหนึ่งของหมู่เกาะอาดัง คือ ยังมีปูเสฉวนหลายประเภทจำนวนมากให้ดู



เมื่อผมกลับไปเกาะอาดังอีกครั้งหนึ่ง พบปูเสฉวนตัวใหญ่มากตัวหนึ่งบนหาดเดียวกันกับที่เคยพบปูเสฉวนในกระป๋องแป้ง ห่างจากเกาะอาดังไปทิศตะวันตกเพียง 1 กิโลเมตร คือเกาะราวี เป็นเกาะใหญ่เท่าเกาะอาดังแต่ลักษณะยาวกว่า เกาะราวีมีภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งชายหาดทรายขาวหลายหาด ชายหินหรือโขดหินที่เรียงรายยาวหลายร้อยเมตร ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าโกงกาง นอกจากนั้น ใต้ทะเลรอบเกาะยังมีปะการังที่สวยงามอีกด้วย มุมโปรดของผมที่เกาะราวี คือปลายเกาะด้านตะวันตก ผมได้มีโอกาสถ่ายภาพจากเฮลิคอปเตอร์ ในภาพแรกจะเห็นป่าทุกประเภทบนเกาะราวี เริ่มจากทางซ้ายจะเห็นหาดทรายขาวกับป่าดิบชื้น กลางภาพจะเห็นหาดทรายอีกหาดหนึ่ง แต่ป่าเปลี่ยนเป็นป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ และทางขวาสุดของภาพเป็นป่าโกงกาง ส่วนบนทิวเขาที่เห็นมีทั้งป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง ที่หาดกลางภาพจะมีลำธารไหลมาจากน้ำตกบนฝั่ง ผมขอแนะนำให้ผู้ที่รักธรรมชาติไปกางเต็นท์นอนบนฝั่งเหนือหาดกลางภาพ และควรอยู่อย่างน้อยสองวัน เพราะมีสถานที่ให้เดินสำรวจหลายแห่ง และกิจกรรมให้ทำหลายอย่าง ถ้าเดินลึกเข้าไปในฝั่งไปยังทิวเขา จะเห็นลำธารและน้ำตก นอกจากนั้น สามารถเดินทะลุป่าดิบชื้นไปอีกอ่าวหนึ่ง ระหว่างทางเดินจะผ่านป่าอันสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยต้นตะเคียนสูงใหญ่ และพันธุ์ไม้อื่น ๆ ครั้งหนึ่งผมได้เห็นกระรอกบินตัวเขื่องเกาะอยู่ที่ลำต้นตะเคียน หาดที่เห็นเป็นหาดทรายขาว และละเอียดที่สุดที่ผมเคยเห็นมา ทั้งขาวและละเอียดเป็นแห้งเลยทีเดียว เรือขนาดต่าง ๆ แม้กระทั่งเรือเล็กใช้เครื่องติดท้ายยังเข้าถึงหาดไม่ได้ เพราะมีปะการังน้ำตื้นเต็มไปทั้งอ่าว เวลาน้ำลงเดินลุยน้ำดูปะการังน้ำตื้นได้อย่างสบาย จุดที่ปลายเกาะราวีเป็นมุมสงบที่สุด ทานอาจอยู่ได้หลายวันโดยไม่พบใครเลย แต่ทางอุทยานจะจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ขึ้นที่ปลายเกาะราวี เพื่อให้ความอุ่นใจและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว จากเกาะราวีข้ามมาเกาะบูตังหรือเกาะดง ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศใต้เพียงประมาณ 500 เมตรเท่านั้น ด้านเหนือของเกาะบุตังมีหาดทรายอยู่หลายหาดเดินติดต่อกันได้ หน้าเกาะบูตังเหมาะสำหรับจอดเรือ เพราะมีทั้งเกาะบูตังและเกาะราวีกำลังคลื่นลมให้ ถ้าจอดเรือค้างคืนที่นี่ ตอนเช้าตรู่จะเห็นฝูงลิงออกมาจากป่าจับหอยกิน เกาะบูตังมีป่าที่ยังสมบูรณ์มากที่สุดเกาะหนึ่ง เต็มไปด้วยต้นยางและต้นตะเคียน และบนยอดไม้สูงจะมีรังของนกเหยี่ยวหาปลาหัวเทา ซึ่งถูกจัดอยู่ในประเภทเสี่ยงต่อการที่อาจสูญพันธุ์ได้ ท่านจะเห็นเหยี่ยวประเภทนี้บินหาปลาโฉบไปโฉบมา สำหรับคนที่ชอบดำน้ำ เกาะบูตังมีแนวปะการังยาวหลายร้อยเมตรที่ยังสมบูรณ์โดยเฉพาะปะการังเขากวาง ปะการังจาน ฟองน้ำครก และปะการังอ่อน เป็นต้น นอกจากนั้นบริเวณเกาะเล็กๆ เลยเกาะบูตังออกไปก็ยังดำน้ำได้ และเนื่องจากเกาะเหล่านั้นอยู่ติดกับทะเลลึก นักดำน้ำจึงมีโอกาสที่จะเห็นปลาขนาดใหญ่ เช่นปลาฉลาม ปลาสาก ปลากระเบน ปลาหมอทะเล และเต่าทะเล

ส่วนคนที่ชอบอาหารทะเล สามารถนั่งเรือตกปลา หรือไปยืนตกปลาตามโขดหินก็ได้ เพราะมีชุมชุมมาก ตามโขดหินก็มีหอยนางรมเกาะเต็มไปหมด ท่าจะได้ทานหอยนางรมที่สดที่สุด โดยไปกะเทาะเอาจากโขดหินและนั่งทานบนโขดหินนั้นเลย ผมแนะนำให้ไปทำตอนบ่ายแก ๆ และนำไวน์ขาวใส่ถังแช่น้ำแข็งไปด้วย จะทำให้การทานหอยนางรมจะมีรสชาติที่สุด ถ้าดวงของท่านทำบาปไม่ขึ้น ตกปลาเองไม่ได้เลย ก็ขอซื้อปลาจากชาวเลที่มาวางลอบดักปลาบริเวณเกาะบูตังได้ด้วยราคาที่ถูกมาก

ในช่วงเช้าขอแนะนำให้นั่งเรือเล็กรอบเกาะบูตัง ชมธรรมชาติและปะการังน้ำตื้นเพราะน้ำที่นั่นใสมาก ใกล้ ๆ กับเกาะบูตังมีเกาะเล็ก ๆ 2 เกาะ ถ้าท่านไปถึงที่นั่นขอให้ไปชมให้ได้ เพราะผมถือว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ เกาะหนึ่งมีหินขนาดใหญ่ซ้อนกัน ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดมาได้อย่างไร คงจะเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ อีกเกาะหนึ่งมีหินเกือบกลมก้อนใหญ่มากวางอยู่บนยอดเกาะธรรมชาติ อีกเกาะหนึ่งมีหินเกือบกลมก้อนใหญ่มาก วางอยู่บนยอดเกาะ ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามาจากไหน ขึ้นไปอยู่บนนั้นได้อย่างไร ผมเรียกหินก้อนนั้นว่าลูกนิมิตเทวดา เทวดาท่านคงสร้างลูกนิมิตก้อนนี้ไม่เสร็จ จึงทิ้งลงมาที่โลก เกาะที่หินก้อนนี้วางอยู่เป็นเกาะสุดท้ายในเขตแดนไทย ท่านดูในภาพจะเห็นเกาะราวีอยู่ด้านหลังและเกาะบูตังอยู่ทางซ้าย

นักท่องเที่ยวที่ชอบปีนป่ายภูเขาหินนั้น บริเวณนี้มีเกาะเต็มไปด้วยเนินหิน และโขดหินให้ปีนป่ายให้สะใจ ที่ท้าทายคือตอนโดดจากเรือเล็กขึ้นไปบนเกาะ เพราะหลายครั้งทะเลมีคลื่นไม่สามารถบังคับเรืออยู่นิ่งและเข้าเทียบเกาะได้ และตอนกลับมาขึ้นเรือก็ท้าทายความคล่องแคล่วกันอีก หินบางก้อนลื่นเพราะมีตะไคร่เกาะอยู่ ต้องกะระยะและจังหวะให้ดี บางครั้งต้องคลานสี่เท้าเพราะถ้ายืนจะลื่นหกล้ม ซึ่งเป็นการผจญภัยเล็ก ๆ ที่เพิ่มรสชาติให้กับชีวิต

การเดินสำรวจเกาะ ลุยน้ำ หรือปีนเขานั้นควรใส่รองเท้า Reef Walker ซึ่งเป็นรองเท้ายางใส่กับชุดดำน้ำก็ได้ ถูกออกแบบมาให้ใช้กับทะเลเปียกน้ำได้ พื้นรองเท้าเกาะติดหินทำไห้ไม่ลื่นและแข็งแรงพอที่จะเดินบนปะการัง หรือโขดหินที่เต็มไปด้วยเปลือกหอยนางรมที่แปลมคมได้

ถ้าค้างคืนที่เกาะบูตัง ผมแนะนำให้ตื่น 6 โมงเช้า มาดูพระอาทิตย์ขึ้นเหนือเกาะอาดัง ถ้าโชคดีท้องฟ้าโปร่ง ก็จะเห็นพระอาทิตย์ชัดเจน แต่ถ้าอยู่ที่ด้านตะวันตกของเกาะอาดัง ตอนเย็นจะเห็นพระอาทิตย์ตก และมีโอกาสที่จะเห็นเสมือนว่าดวงอาทิตย์ละลายเมื่อถูกน้ำทะเล

จากเกาะบุตังนั่งเรือไปทิศตะวันออกอีกครึ่งชั่วโมงก็ถึงเกาะหลีเป๊ะ เกาะที่อยู่นอกเขตอุทยาน และมีหมู่บ้านชาวเลตั้งอยู่ มีรีสอร์ท หลายแห่งและร้านค้าไว้บริการนักท่องเที่ยว เกาะหลีเป๊ะอยู่ด้านทิศใต้ของเกาะอาดังห่างกันเพียงประมาณ 1 กิโลเมตร เท่านั้น นักท่องเที่ยวชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวเยอรมันและแสกนดิเนเวียน ชอบมาเที่ยวหมู่เกาะอาดังมากเป็นพิเศษ หลายรายมาเช่าบังกะโลอยู่บนเกาะหลีเป๊ะนานเป็นเดือนสองเดือน ใช้ชีวิตความเป็นอยู่เหมือนชาวเล มีความสุขกับธรรมชาติและชีวิตที่สงบเงียบ และเรียบง่าย

กลางทางระหว่างเกาะบูตังกับเกาะหลีเป๊ะมีเกาะหินงาม ควรจะแวะชมอย่างยิ่ง เพราะที่เกาะนั้นแทนที่จะมีหาดทรายกลับมีหาดหินแทน ทั้งหาดเต็มไปด้วยก้อนหินสีดำมีลักษณะต่าง ๆ ทั้งรี มน กลม ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ บนหาดมีป้ายบอกคำสาปแช่งของเจ้าพ่อตะรุเตาให้คนที่นำเอาหินไปจากเกาะมีอันเป็นไป

นักท่องเที่ยวหลายรายที่นำเอาหินไปต้องรีบเอามาคืน เพราะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับตนจริง ๆ ผมขอแนะนำว่าแค่ถ่ายภาพไปดูเล่นก็น่าจะเพียงพอ และขอแนะนำเพิ่มเติมว่าถ้าจะถ่ายภาพ เมื่อหินสีดำเปียกน้ำจะมันวับขึ้นมาในทันที และรูปจะออกมาอย่างมีสีสัน

จะมีนักท่องเที่ยวบางประเภท ที่เวลาไปเที่ยวไม่ชอบนอนพักผ่อนหรืออยู่นิ่งเฉย และเป็นประเภทที่ต้องมีกิจกรรมทำตลอดเวลา ผมแนะนำให้ไปเที่ยวหมู่เกาะอาดังและควรอยู่สัก 4 – 5 วัน ถึงจะคุ้ม เพราะจะมีอะไรหลายอย่างให้ทำตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืน เริ่มตั้งแต่ตื่น 6 โมงเช้าดูพระอาทิตย์ขึ้น เดินเล่นบนหาดทราย ดำน้ำ นั่งเรือสำรวจเกาะ ปีนเขา บุกป่าสำรวจน้ำตก ถ่ายรูปพันธุ์ไม้ พันธุ์พืช และนกตามเกาะต่าง ๆ เยี่ยมหมู่บ้านชาวเล ตอนบ่ายดำน้ำอีกรอบ ดูพระอาทิตย์ตก ตกปลาหรือดำน้ำกลางคืน นอนบนดาดฟ้าเรือหรือบนหาดดูดาวบนท้องฟ้า สิ่งที่ผมแนะนำนั้นได้เคยทำมาด้วยตนเองแล้วทั้งสิ้น แต่ถ้าท่านชอบดำน้ำอย่างเดียว ควรจะไปหมู่เกาะสิมิลัน เพราะจุดดึงดูดของสิมิลันอยู่ใต้ทะเล ขณะที่การผจญภัยบนเกาะและกิจกรรมบนบกมีไม่มากเท่าที่หมู่เกาะอาดัง ส่วนท่านที่ชอบนั่งนอนพักผ่อนอ่านหนังสือ ก็เหมาะเป็นอย่างยิ่ง ในการพักผ่อน

มาถึงเกาะอาดังทั้งที ต้องไม่พลาดการดำน้ำ หน่วยพิทักษ์ อุทยานฯ มีเรือหางยาวบริการไปยังจุดดำน้ำตามเกาะต่างๆ ราคาเช่าเหมาลำวันละ 800 – 1,000 บาท หรือ หากเช่าเหมาลำเที่ยวรอบเกาะอาดัง – ราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะยาง เกาะจาบัง เกาะหินงาม เกาะดง คิดราคาประมาณวันละ 1,000 – 1,500 บาท จุดชมวิวผาชะโด อยู่บนยอดเขาเหนือเกาะอาดัง จากที่ทำการฯ มีเส้นทางเดินเท้าขึ้นสู่จัดชมวิวใช้เวลาประมาณ 15 นาที บนจุดชมวิวจะเห็นทิวสนเขียวขจีตัดกับแหลมทรายสีขาวราวกับแป้งของเกาะอาดัง และมองเห็นเกาะหลีเป๊ะอยู่ข้างหน้า ที่นี่ยังเป็นจุดชมทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตำได้ในจุดเดียวกัน บนหมู่เกาะอาดัง-ราวี มีน้ำตกสวยงามหลายแห่งไม่น้อยหน้าเกาะตะรุเตา หากต้องการไปเที่ยวน้ำตก ควรติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้ามาถึงหมู่เกาะอาดังแล้วไม่ได้ไปชมวิถีชีวิตของชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ควรจะจัดโปรแกรมไปพักที่นี่ซักคืนสองคืน แล้วจะรู้ว่าที่นี่เป็นสวรรค์ของคนรักธรรมชาติจริง ๆ เดือนธันวาคมถึงเมษายน เป็นช่วงเหมาะที่สุดในการไปเยือนหมู่เกาะอาดัง – ราวี

การเดินทางสู่เกาะอาดัง เส้นทางสะดวกที่สุดคือ มาที่ท่าเรือปากบารา จากจังหวัดสตูลใช้ทางหลวงหมายเลข 406 ถึงบ้านฉลุง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 416 ต่อด้วยทางหมายเลข 4052 ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา ในช่วงฤดูท่องเที่ยวมีเรือโดยสารออกทุกวัน เรือออกเวลา 10.30 น. ส่วนเที่ยวกลับ 9.00 น. ราคาค่าโดยสารไปกลับท่าเรือปากบารา – เกาะตะรุเตา – เกาะอาดัง คนละ 660 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (074)781532

เกาะอาดังมีเรือนแถว 2 หลัง หลังละ 10 ห้อง พักได้ห้องละ 4 คน และมีเต็นท์ขนาดต่าง ๆ ให้บริการ ควรจองล่วงหน้า 30 วัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่พักได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (074)729002 – 3 หรือที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทรศัพท์ (02)5797047-8 ส่วนเรื่องอาหาร บนเกาะมีร้านบริการนักท่องเที่ยว อัตราค่าอาหารประมาณคนละ 250 – 300 บาทต่อวัน หากไปถึงแล้วที่พักบนเกาะอาดังเต็ม ก็สามารถนั่งเรือหางยาวของอุทยานฯ คนละ 20 บาท ไปพักที่เกาะหลีเป๊ะได้ มีรีสอร์ทเอกชนบริการหลายแห่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น