วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ล่องเรือเยือนหมู่เกาะโจรสลัดที่ ตะรุเตา

ผมได้ยินชื่อเกาะตะรุเตาตั้งแต่เป็นเด็กและใฝ่ฝันที่จะไปเที่ยวมานานแล้ว ทั้งประวัติของเกาะ เมื่อครั้งเป็นคุกขัง นักโทษอุกฉกรรจ์ และนักโทษทางการเมือง ช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องราวของโจรสลัดตะรุเตาที่โหดเหี้ยม ธรรมชาติที่สวยงามของเกาะตะรุเตา ที่ตั้งของเกาะอยู่ไกลโพนสุดเขตแดนของประเทศ และทะเลลึกเต็มไปด้วยฉลามร้าย ผมมีโอกาสไปเยือนเกาะตะรุเตาเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2535 นี้เอง และเป็นการเปลี่ยนชีวิตของผมด้วย เพราะการไปตะรุเตาครั้งนั้น ทำให้ผมได้มีอาชีพเพิ่มอีกหนึ่งอาชีพ คือเป็นนักเขียนนิยายผจญภัย

รัฐบาลไทยได้ยกเลิกคุกบนเกาะตะรุเตา และประกาศให้เกาะตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลในปี 2515 ซึ่งรวมทั้งหมู่เกาะอาดังซึ่งเป็นหมู่เกาะใต้สุดของแผ่นดินไทยห่างจากตะรุกเตาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 45 กิโลเมตร ผมจะพูดถึงหมู่เกาะอาดังในบทต่อไป เพราะมีทั้งเรื่องราวที่จะเล่าให้ฟังและถ่ายภาพให้ดูมากมาย บทนี้จะพูดถึงเกาะตะรุเตาเท่านั้น

การเดินทางไปเกาะตะรุเตาในปัจจุบันนับว่าสะดวกมาก แต่ก็ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวัน และพาหนะทุกประเภท ทั้งเครื่องบิน ขึ้นรถลงเรือ วิธีที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด คือ เดินทางโดยสารการบินไทยลงที่สนามบินหาดใหญ่ซึ่งใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมงกับ 5 นาที แล้วนั่งรถอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ไปยังท่าเรือปากบาราที่อำเภอละงู ในจังหวัดสตูล ลงเรือโดยสารหรือเรือของอุทยานตะรุเตาไปอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่งจึงจะไปถึงเกาะตะรุเตา ในอดีตเรือจะไปขึ้นหน้าที่ทำการอุทยานที่อ่าวพันเตมะละกา และอ่าวตะโละวาว ที่อยู่ด้านตะวันออก หลังจากนั้นก็จะใช้ท่าเรืองอย่างดีที่สร้างไว้หลายปีมาแล้ว ที่อ่าวตะโละวาวเป็นทางเข้าหลักของอุทยาน ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวตะรุเตาได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากเมื่อถึงหน้ามรสุมระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง ตุลาคมของทุกปี คลื่นลมด้านอ่าวพันเตมะละกาจะแรงมาก และเป็นอันตรายต่อการเดินเรือและนักท่องเที่ยว ส่วนด้านอ่าวตะโละวาว มีเกาะหลายเกาะเป็นกำลังคลื่นลม ทำให้เรือเข้าเทียบท่าได้สะดวกและปลอดภัย การทำถนนข้ามเกะเป็นการเปิดกลางเกาะตะรุเตาให้นักท่องเที่ยวได้เห็นสภาพป่าดงดิบที่สมบูรณ์ เพราะที่ผ่านมาเที่ยวกันเฉพาะตามชายหาดรอบๆ เกาะเท่านั้น น้อยคนนักที่จะกล้าล่วงล้ำเดินบุกป่าฝ่าดงดิบเข้าไปใจกลางเกาะที่มีความยาว 24 กิโลเมตร และส่วนที่กว้างที่สุดมีความยาว 11 กิโลเมตร และในอดีตเกาะตะรุเตาได้ชื่อว่ามีไข้มาลาเรียชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ผมมีโอกาสถ่ายภาพอ่าวตะโละวาวจากเฮลิคอปเตอร์ จะเห็นหินที่ตั้งเป็นสัญลักษณ์ของอ่าว และท่าเทียบเรือคอนกรีตที่สร้างไว้หลายปีมาแล้ว บริเวณพื้นที่ราบบนเกาะใต้ท่าเรือลงมาที่มีลูกศรชี้ คือสถานที่คุมขังนักโทษอุกฉกรรจ์เกือบสามพันคนในอดีต

ส่วนค่ายของนักโทษทางการเมือง อยู่ที่อ่าวตะโละอุดัง ด้านใต้สุดของเกาะ ก่อนจะขึ้นรถเดินทางข้ามเกาะไปอ่าวพันเตมะละกา ท่านควรเดินไปดูสถานที่ที่เคยเป็นที่คุมขังนักโทษซึ่งยังมีร่อยรอยเหลืออยู่ เพราะไม่ไกลจากท่าเทียบเรือนัก เดินไปประมาณ 20 นาที ขณะนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำลังก่อสร้างรื้อฟื้นสถานที่ในจุดนี้ ให้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์สำหรับนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม

จากอ่าวตะโละวาวมีถนนระยะทาง 12 กิโลเมตร ไปยังที่ทำการอุทยานและที่พักที่อ่าวพันเตมะละกา ทางอุทยานมีรถรับส่ง ซึ่งออกแบบให้นักท่องเที่ยวนั่งดูทิวทัศน์ธรรมชาติระหว่างทางได้ เกาะตะรุเตามีสภาพป่าหลายระเภทตั้งแต่ป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณทางด้านเหนือสุดของเกาะ ซึ่งผลัดใบช่วงหน้าแล้งจนค่อยกลายเป็นป่าดิบแล้งไปถึงกลางเกาะซึ่งมีภูเขาสูง และป่าดิบชื้นจนถึงด้านใต้สุดของเกาะ รอบ ๆ เกาะก็มีป่าโกงกางเป็นระยะ ๆ

ท่านที่ชอบเดินป่าผจญภัยควรอยู่บนเกาะตะรุเตาหลายวัน เพราะมีเส้นทางให้เดินไปสำรวจน้ำตกหลายแห่ง รวมทั้งนั่งเรือเข้าไปสำรวจแม่น้ำพันเต ซึ่งสองข้างเต็มไปด้วยป่าโกงกางที่สมบูรณ์ที่สุด จนถึงเกือบสุดทางที่ถ้ำจระเข้ที่มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก ดังนั้น วันเดียวหรือสองวันเที่ยวไม่ทั่วทั้งเกาะแน่นอน เส้นทางที่เดินสนุกเส้นหนึ่ง คือเดินจากที่ทำการอุทยานที่อ่าพันเตฯ ไปยังอ่ามอแระ ซึ่งสวยงามมาก เพราะมีหาดโค้งยาวและบนบกมีต้นมะพร้าวน้ำทะเลที่นั่น ผมเคยดื่มน้ำมะพร้าวที่นั่น ซึ่งรสชาติหวานดีทีเดียว ผมได้แนะนำกรมป่าไม้หลายครั้ง ให้สร้างที่พักที่อ่าวมอแระ เพราะมีชายหาดและธรรมชาติที่สวยงามและมีน้ำจืดเพียงพอ สักวันหนึ่งคงจะเห็นที่พักมาตรฐานเกิดขึ้นที่อ่าวมอแระ จริง ๆ แล้วรัฐบาล หรือกรมป่าไม้ไม่เคยลงทุนสร้างที่พัก หรือโรงแรมที่มีมาตรฐานสากลสำหรับนักท่องเที่ยวในอุทยานเลยสักแห่ง ทั้ง ๆ ที่เรามีอุทยานทั้งทางบกและทางทะเลที่สวยงามมากมาย ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติให้ไปพักได้หลายวัน แต่สิ่งที่ขาดคือที่พัก บ้านพักที่นักท่องเที่ยวไปพักกันตามอุทยานคือ บ้านรับรองของทางราชการหรือบ้านที่สร้างขึ้นสำหรับเจ้าหน้าที่เท่านั้น

จากอ่าวมอแระ ถ้าท่านยังมีแรงอยู่ก็ควรเดินต่อไปให้ถึงอ่าวสน ซึ่งมีหาดที่กว้างและยาวที่สุดบนเกาะตะรุเตา คือ ประมาณ 3 กิโลเมตร หาดสน ที่ทั้งกว้างและยาว ที่อ่าวสนมีหน่วยพิทักษ์อุทยานตั้งอยู่ ถ้าเดินกลับไปอ่าวพันเตฯ ไม่ไหว สามารถเช่าเต็นท์นอนพักที่นั่นได้ มีห้องน้ำบริการ แต่ถ้าไม่อยากนอนเต็นท์และจำเป็นต้องกลับ ก็ขอให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่อ่าวสนขับเรือไปส่งให้ที่อ่าวพันเตก็ได้ ส่วนท่านที่เป็นนักจักรยานภูเขา สามารถนำจักรยานไปขี่ไปกลับระหว่างอ่าวพันเต กับอ่าวสนได้อย่างสบาย การเดินป่าที่นี่ต้องคอยระวังฝูงวัวป่า ซึ่งมีประมาณ 200 ตัว ซึ่งแต่เดิมก็คือวัวบ้านนั่นเอง เคยมีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บนตะรุเตาหลังจากที่รัฐบาลได้ยกเลิกคุกไปแล้ว ต่อมาเมื่อประกาศเป็นอุทยาน ชาวบ้านได้ย้ายออกจากเกาะไป แต่ทิ้งวัวจำนวนหนึ่งไว้ ซึ่งได้ออกลูกหลานมาจนกลายเป็นวัวป่าไปแล้ว และมีความดุร้ายพอสมควร แต่ตามปกติจะตื่นและกลัวคน จะไม่เข้าใกล้

ถ้าใครมีเวลาน้อย อยากจะเที่ยวได้หลายหาดในวันเดียว ควรว่าจ้างเรือหางยาวที่ที่ทำการอุทยาน โดยว่าจ้างทั้งวัน หลังอาหารเช้าแล่นเรือเข้าไปในแม่น้ำพันเตก่อน เพื่อชมป่าโกงกาง ต่อไปจึงชมถ้ำจระเข้ เข้าชมถ้ำแล้วกลับมาทานอาหารกลางวันที่ที่ทำการอุทยาน หรือสั่งอาหารกลางวันไว้ล่วงหน้า แล้วแวะมารับไปนั่งล้อมวงทานกันใต้ต้นมะพร้าวที่อ่าวมอแระ ซึ่งผมรับรองว่าให้บรรยากาศดีกว่าทานที่ห้องอาหารของอุทยานมากนัก ถ้าโชคดี ก็อาจจะเห็นฝูงนากห้าหกตัวลงมา เล่นน้ำจับปลาในหาดข้างหน้า หรือเห็นนกเงือกบินผ่าน ซึ่งผมถ่ายภาพนกเงือก 2 ตัว บินผ่านเหนืออ่าวมอแระมาได้ หลังจากนั้นลงเรือต่อไปยังอ่าวสน ผมแนะนำให้ไปที่ด้านใต้สุดของอ่าวสนซึ่งเป็นมุมโปรดของผม ทุกครั้งที่ไปตะรุเตาจะต้องไปจอดเรือนอนค้างที่ตรงนั้น เพราะสงบเงียบมากไม่มีผู้คนเลย ถ้าไปนั่งเงียบ ๆ บนฝั่งจะมีโอกาสเห็นสัตว์ป่า ผมได้เห็นตัวนากวิ่งจากป่าไปจับปลาในทะเล และเห็นรอยของหมูป่าและกระจงหลายจุดด้วยกัน ที่ปลายหาดด้านใต้สุดของอ่าวสน จะมีคลองไหลจากเขามาลงทะเล ถ้ำน้ำลงไม่มากนัก ให้นำเรือเข้าไปในคลองนั้น ครั้งหนึ่งได้พาเพื่อนไปเที่ยวที่นั่น เมื่อมองเข้าไปจะเห็นป่าโกงกางไปจนถึงป่าดงดิบและทิวเขาสูงชัน ให้ความรู้สึกว่ากำลังเดินทางเข้าไปผจญภัยในป่าลี้ลับสุดขอบฟ้า แต่รับรองว่าปลอดภัยแน่นอน ผมไปมาหลายครั้งแล้วยังไม่เคยเจอมนุษย์กินคน หรือ คิงคอง เลยสักครั้ง แม้แต่จระเข้ซึ่งอยากเห็นมาก เพราะครั้งหนึ่งเคยชุกชุมก็ยังไม่ได้เห็นสักตัว เนื่องจากถูกคนล่าหมดไปเมื่อหลายปีแล้ว

น้ำในคลองใสและสะอาด เวลาน้ำนิ่งจะเห็นภาพสะท้อนในน้ำได้ชัดดังภาพที่นำมาให้ชม เมื่อเข้าไปในคลองสักพักหนึ่งจะเห็นลำธารไหลมาลงคลองเป็นระยะๆ ท่านจะเลือกลำธารไหนก็ได้ จอดเรือแล้วลุยน้ำครึ่งน่องตามลำธารขึ้นไป เพราะเดินบนฝั่งไม่ได้เนื่องจากเป็นป่าทึบ จะได้สัมผัสกับธรรมชาติที่สมบูรณ์จริง ๆ พวกเราไปครั้งแรก หวังที่จะพบน้ำตกที่เป็นต้นกำเนิดลำธาร แต่เดินกันเป็นชั่วโมงยังไม่ถึงต้นน้ำเลยตัดสินใจกลับ ถ้านั่งเรือตามคลองลึกเข้าไปเรื่อย ๆ จะอยู่ท่ามกลางป่าโกงกางที่กว้างใหญ่ คลองเริ่มแคบลงและตื้นขึ้น จนเรือเข้าไปอีกไม่ได้จึงได้หันเรือกลับ สำหรับผู้ชอบธรรมชาติจริง ๆ ควรนำเต็นท์มากางนอนค้างที่หาดสน และนำอาหารเย็นมาด้วย เพราะสิ่งที่พิเศษสุดอีกสิ่งหนึ่งที่นี่ คือ นั่งบนชายหาดดูดวงอาทิตย์ค่อย ๆ ตก และลับขอบฟ้าข้างหน้าข้างหน้า ถ้าอากาศดีจะเห็นเกาะอาดังและดวงอาทิตย์ตกที่เกาะอาดังตามภาพที่เห็น

อีกภาพหนึ่งนั้น ผมถ่ายภาพดวงอาทิตย์กำลังลับขอบทะเล และมีเรือประมงแล่นผ่านมาพอดี ผมไปทะเลนับครั้งไม่ถ้วน มีภาพถ่ายดวงอาทิตย์ทั้งขึ้นและตกมากมาย และไม่เคยเบื่อเลยที่จะตื่นหกโมงเช้ามานั่งหัวเรือคอยถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้น และตอนเย็นนั่งเฝ้าดูพระอาทิตย์ตก ก็ยอมรับว่าเป็นความบ้าชนิดหนึ่ง แต่เป็นความบ้าที่ให้ความสุขแก่ตัวเอง และไม่เป็นพิษภัยต่อใคร บางครั้งผมก็นั่งเรือเล็กไปลอยเรือกลางทะเล เพื่อรอถ่ายรูปให้ติดเรือขณะที่พระอาทิตย์กำลังขึ้นหรือกำลังตก อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากที่เกาะตะรุเตา คือบนหาดสนจะมีทั้งปูลมและปูเสฉวนจำนวนมากทั้งวิ่ง และเดินเต็มหาดไปหมด โดยเฉพาะตอนเช้าก่อนแดดจัด และช่วงบ่ายแก่ ๆ เมื่อแสงอาทิตย์เริ่มอ่อนลง นั่งนอนบนชายหาดที่เรียบกว้าง ดูปูเสฉวนในเปลือกหอยลักษณะต่าง ๆ กัน ก็เป็นความสุขของผู้ที่รักธรรมชาติ ถ้าเห็นเปลือกหอยเปล่าบนชายหาด ขอความกรุณาอย่าเก็บไป ทิ้งไว้เพื่อให้ปูเสฉวนมาเปลี่ยนเปลือกหอย เพราะปูเสฉวนมีอายุเกิน 25 ปี และมีการเติบโตขึ้นตลอด เมื่อตัวโตก็ต้องหาเปลือกปอยที่ใหญ่กว่าตัว เพื่อไปอยู่ใหม่ ถ้าหาเปลือกใหม่ไม่ได้เขาก็จะต้องตาย เพราะตัวของเขาอ่อนนิ่มและไม่มีอะไรป้องกัน ผมเคยเห็นปูเสฉวนอาศัยอยู่ในกระป๋องแป้งที่เกาะอาดังซึ่งจะเล่าให้ฟังในบทต่อไป ที่ชายหาดด้านใต้สุดของหาดสนเป็นที่อยู่ของหอยทับทิมจำนวนมาก นับว่าเป็นปูเสฉวนขนาดเล็กที่สุด ผมเคยพาเพื่อนไปปล่อยเปลือกหอยให้ปูเสฉวนทั้งที่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง

นอกจากปูเสฉวนแล้ว บางครั้งถ้าโชคดีจะเห็นเต่าขึ้นมาวางไข่ และเห็นปลาโลมามาปรากฏตัวที่ชายฝั่งของหาดสนด้วย ด้านใต้สุดของเกาะตะรุเตาคือ อ่าวตะโละอุดัง มุมโปรดอีกแห่งหนึ่งของผม ไปตะรุเตาทีไรจะจอดเรือค้างคืนอยู่สองอ่าว คือ อ่าวสนกับอ่าวตะโละอุดัง อ่าวนี้เคยเป็นที่คุมขังนักโทษทางการเมือง 70 คน และนักโทษอุกฉกรรจ์จำนวนหนึ่ง ในอดีตเป็นอ่าวที่มีหาดทรายโค้งยาวสวยมาก เมื่อเวลาน้ำลงจะทำให้หาดลงไปไกลมาก ต้องเดินจากเรือเล็กหลายร้อยเมตรกว่าจะถึงฝั่ง มีร่อยรอยของถนนยาว 11 กิโลเมตร ที่นักโทษได้สร้างไว้เพื่อนเชื่อมอ่าวนี้กับอ่าวตะโละวาว สิ่งพิเศษสำหรับอ่าวนี้ นอกจากทางประวัติศาสตร์และทิวทัศน์แล้ว บนหาดยังเต็มไปด้วยชีวิตของสัตว์ทะเลอีหลายประเภท เป็นระบบนิเวศที่น่าศึกษามีทั้งปูก้ามดาบหรือปูทหาร ปลาตีน ตัวเพรียง และหอยตลับซึ่งมีอยู่เต็มหาด เดินบนหาดจะเหยียบเปลือกหอยตลับไปตอดทาง ผมเคยขออนุญาตเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ที่นั่นเก็บหอยตลับไปทานบนเรือ ซึ่งเขาก็อนุญาตเพราะมีมากมายเหลือเฟือ พวกเจ้าหน้าที่ที่นั่นก็ทานกันเป็นประจำเหมือนกัน ทำให้ประหยัดค่าอาหารไปได้หลายมื้อ

จากอ่าวตะโละอุดังมองข้ามช่องแคบที่กว้าง 5 ไมล์ทะเล จะเห็นเกาะลังกาวีของมาเลเซียชัดเจน เขตแดนไทย – มาเลเซีย อยู่กึ่งกลางของช่องแคบนั้น ส่วนคนที่ชอบดำน้ำจะผิดหวัง เพราะรอบเกาะตะรุเตาไม่มีจุดดำน้ำที่คุ้มค่าพอจะไปดำ เนื่องจากน้ำขุ่นและปะการังมีน้อยมาก ต้องเดินทางต่อไปเกาะกลางและเกาะไข่ซึ่งอยู่ครึ่งทางระหว่างเกาะตะรุเตากับเกาะอาดัง บริเวณรอบ ๆ ทั้งสองเกาะนั้นนำใส และมีปะการังให้ดำดูได้ บนเกาะไข่มีรูปประตูหินโค้งครึ่งวงกลมหลายคนคงเคยเห็นจนชินตาในหนังสือนำเที่ยวต่าง ๆ ประตูหินนั้นถือว่าเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล

คนรักทะเลที่มาถึงเกาะตะรุเตา ควรหาโอกาสนั่งเรือเที่ยวรอบเกาะ ที่อุทยานฯ มีเรือหางยาวเหมาเที่ยวรอบเกาะ ราคา 2,000 บาท และมีเรือ Ecotour ของอุทยานฯ บริการทุกวัน คิดราคา 320 บาทต่อคน พร้อมอาหารกลางวันและน้ำดื่ม เรือจะพาแวะอ่าวสน อ่าวตะโละวาว อ่าวตะโละอุดัง เกาะไข่ เกาะกลาง ดูนก เป็นความเพลิดเพลินอีกอย่างหนึ่ง ที่หาได้จากเกาะสวรรค์แห่งนี้ ที่มีเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ ผ่านป่าดงดิบ จากอุทยานฯ ก่อนผาโต๊ะบู เป็นจุดชมวิวประจำเกาะตะรุเตา อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ ใช้เวลาเดินป่าขึ้นหน้าผาประมาณ 15 นาที จุดชมวิวอีกแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากที่ทำการไป 1.5 กิโลเมตร เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอ่าวพันเตมะละกากับอ่าวจาก ถ้ายังไม่เหนื่อย แนะนำให้ไปเที่ยวต่อที่ถ้ำจระเข้ อุทยานฯ มีเรือหางยาวนำเที่ยวถ้ำจระเข้ ราคาคนละ 40 บาท หรือเหมาลำละ 400 บาท ช่วงปลอดมรสุมราวเดือนธันวาคม ถึงเมษายน เหมาะที่สุดในการเยือนเกาะตะรุเตา

การเดินทางสู่เกาะตะรุเตา เส้นทางสะดวกที่สุดคือมาที่ท่าเรือปากบารา จากจังหวัดสตูลใช้ทางหลวงหมาเลข 406 ถึงบ้านฉลุงแยกซ้ายทางหลวงหมายเลข 416 ต่อด้วยทางหมายเลข 4052 ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา ในช่วงฤดูท่องเที่ยวมีเรือโดยสารออกทุกวัน เวลา 10.30 น. และ 15.00 น. ส่วนเที่ยวกลับเวลา 9.00 น. และ 14.00 น. ราคาค่าโดยสารคนละ 110 บาท หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (074)781532

อุทยานฯ มีบ้านพัก เรือนแถว และเต็นท์ ขนาดต่าง ๆ ให้บริการมากมาย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่พักได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (074)781285, 729002-3 หรือที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ หมายเลขโทรศัพท์ (02)8797047 – 8 ส่วนเรื่องอาหาร บนเกาะมีร้านอาหาร บริการนักท่องเที่ยวเวลา 08.00 – 22.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น