วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

“หมู่เกาะอาดัง” สีสันแห่งอันดามันใต้

ทะเลอันดามัน ที่อยู่ในเขตแดนของประเทศไทย เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ประเทศอื่น ๆ ที่มีส่วนเป็นเจ้าของทะเลอันดามัน ได้แก่ พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทะเลอันดามันนับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีธรรมชาติสวยงาม ทั้งเกาะ หาดทราย ปะการัง พันธุ์สัตว์น้ำหลากหลาย ตลอดจนสภาพอากาศแสนสบาย ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยเอง และชาวต่างชาติ เดินทางมาสัมผัสทะเลผืนงามแห่งนี้เป็นจำนวนมาก

กัปตันเรือยอช์ทชาวอเมริกันคนหนึ่งมาทำงานกับผมนาน 6 เดือน เขาเรียกทะเลอันดามันของเราว่า The Friendly Sea คือ ทะเลที่เป็นมิตร เขาเคยทำงานในทะเลคาริบเบียนซึ่งมีปัญหาต่าง ๆ มากมาย หมู่เกาะหนึ่งก็เป็นหนึ่งประเทศ ทำให้การเข้าออกประเทศ ไม่สะดวก ปัญหาการค้ายาเสพย์ติดรุนแรง ทำให้อาชญากรรมสูง ทะเลมีคลื่นแรงตลอดปี ไม่สงบเหมือนทะเลอันดามันของเรา หน้าปลอดมรสุม น่านน้ำไทยก็ไม่มีปัญหาโจรสลัด และที่สำคัญคือคนไทยโดยเฉพาะชาวประมง มีความเป็นมิตรมากกว่าคนชาติอื่น เวลาผมไปจอดเรือใกล้กับเรือประมง ให้แม่ครัวไปขอซื้อปลาที่เรือประมง เขาบอกให้เลือกเอากุ้ง หอย ปู ปลา ตามที่ต้องการ และไม่คิดเงินด้วย เราก็ตอบแทนโดยนำขนม ผลไม้และบุหรี่ไปให้ ผมแบ่งเส้นทางในการท่องทะเลอันดามันเป็นสามเส้นทาง เส้นแรก คือ เล่นเรือจากภูเก็ตไปกระบี่ เกาะพีพี และกลับมาภูเก็ต เส้นที่สอง ได้แก่ เส้นเหนือ จากภูเก็ตไปหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์ใกล้พม่า ส่วนเสนที่สาม คือ เส้นใต้ จากภูเก็ตผ่านเกาะรอก ไปหมู่เกาะอาดังและหมู่เกาะตะรุเตาติดกับมาเลเซีย

ทั้งสามเส้นทางอยู่ใน ทะเลที่เป็นมิตร แผ่นดินไทยจึงไม่ต้องห่วงเรื่องโจรสลัด การเข้าออกประเทศ และอาหารการกิน โดยเฉพาะอาหารทะเล ข้อจำกัดข้อเดียว คือปีหนึ่งเที่ยวได้หกเดือนเท่านั้น เฉพาะหน้าปลอดมรสุม คือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน จนถึง เดือนเมษายน บางปี มรสุมมาช้า ก็อาจเที่ยวเดือนพฤษภาคมได้อีกหนึ่งเดือน ถ้ามองในแง่ดี หน้ามรสุมก็เป็นโอกาสให้ทะเลอันดามันได้พักบ้าง เพราะถ้าให้เที่ยวติดต่อกันได้ทั้งปี ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะและแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมก็จะเพิ่มมากขึ้น

ในบทที่แล้วผมเริ่มที่หมู่เกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นใต้ จึงขอต่อด้วยหมู่เกาะอื่น ๆ ในเส้นใต้ให้ครบ ตามปกติผมเดินทางไปหมู่เกาะอาดัง โดยเริ่มต้นจากภูเก็ตเพราะเรือของผมจอดอยู่ที่นั่น แล่นเรือจากอ่าวฉลองที่ปลายเกาะภูเก็ต ไปเกาะรอกใช้เวลา 4 ชั่วโมง จะพักที่นั่นหนึ่งคืน ซึ่งเป็นเกาะที่ผมชอบมากที่สุดเกาะหนึ่ง จากเกาะรอกไปอีก 4 ชั่วโมง ก็จะถึงหมู่เกาะอาดังซึ่งประกอบด้วย 4 เกาะใหญ่ได้แก่ เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะบูตังหรือเกาะดัง และเกาะหลีเป๊ะเรียงรายอยู่ใกล้เคียงกัน หมู่เกาะนี้เป็นหมู่เกาะสุดท้ายในเขตแดนไทย

เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะบูตังเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติของทางทะเลตะรุเตา ส่วนเกาะหลีเป๊ะมีชาวเลอยู่ประมาณ 600 คน อยู่นอกเขตอุทยานฯ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศอังกฤษได้ขยายอาณานิคมบนแหลมมลายูขึ้นมาทางเหนือติดเขตแดนไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า จึงได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองจังหวัดสตูล รวบรวมชาวเลที่อยู่กระจัดกระจายตามเกาะต่าง ๆ ให้มารวมกันตั้งบ้านเรือนบนเกาะอาดังและเกาะหลีเป๊ะ เพื่อแสดงให้ให้อังกฤษเห็นว่าบนเกาะเหล่านี้มีคนไทยอาศัยอยู่แล้ว จึงสมควรเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทย ทางอังกฤษยอมรับเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ทั้งเกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดังเป็นของไทยมาตราบเท่าทุกันนี้

เกาะทั้งสี่และเกาะเล็ก ๆ อีกหลายเกาะมีธรรมชาติและหาดทรายที่สวยงาม ผมเคยนั่งเรือรอบทั้งสี่เกาะและพยายามนะนับว่ามีหาดทรายทั้งหมดเท่าไหร่ ผมนั่งนับมาได้ 40 หาดเลยเลิกนับ เพราะยังเหลืออีกไกลกว่าจะครบทั้งสี่เกาะ เลยสรุปว่ามีหาดทรายมากกว่า 40 หาด ถ้าท่านอยากมีหาดส่วนตัววันละหาด ท่านเช่าเรือหางยาวจากเกาะหลีเป๊ะ ไปเลือกได้เลยว่าวันไหนจะอยู่ที่หาดใด ทุกหาดที่ท่านขึ้นไปจะเห็นปูเสฉวนมากมาย กรุณาปล่อยเขาไว้ที่นั่นให้เป็นเอกลักษณ์ของหมู่เกาะอาดัง ให้เป็นแหล่งที่มีปูเสฉวนมากที่สุด อย่าเก็บไปเลี้ยงที่บ้านให้เป็นบาปติดตัวเลย เพราะเขาต้องตาย ๆ แน่ ๆ บนเกาะอาดังมีที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ และมีสวนสนที่ร่มรื่นและหาดทรายขาหน้าที่ทำการ แต่เสียดายที่เมื่อสองปีที่แล้วมรสุมแรงมาก ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของสวนสนถูกคลื่นซัดหายไป แต่ธรรมชาติก็มีการชดเชยให้เสมอ เมื่อด้านใต้ของสวนสน ถูกเซาะหายไปก็เกิดหาดงอกขึ้นมาด้านตะวันออกของสวนสน ซึ่งต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าจะได้สวนสนที่ร่มรื่นกลับคืนมา ผมชอบจอดเรือหน้าหาดทรายด้านตะวันตกของเกาะอาดัง เพราะมีเกาะอาดังบังคลื่นลม ทำให้เรือจอดได้นิ่ง และด้านนั้นมีหาดทรายยาวติดต่อกันหลายหาดและยังมีน้ำจืดไหลลงทะเลจากยอดเขาเป็นช่วง ๆ จึงเป็นจุดที่ชาวประมงมาจอดเรือ เพื่อนำน้ำจืดไปใช้บนเรือ พูดถึงป่าบนเกาะอาดังนับว่ายังสมบูรณ์มาก มีต้นยางสูงใหญ่จำนวนมาก และมีน้ำตกหลายแห่ง


ท่านที่ชอบเดินป่าควรเดินตามลำธารซึ่งไหลลงมาตามโขดหิน เมื่อขึ้นไปบนเขาจะเห็นความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่เราไม่รู้จัก และน่าศึกษา ท่านที่ชอบเดินหาด ควรเดินแต่เช้าเพราะแดดยังไม่ร้อนและอากาศสบายมาก ผมจะเดินเล่นบนหาดทรายตั้งแต่ 7 โมงเช้า หลังทานอาหารเช้า เวลาขึ้นบกผมสะพายกล้องถ่ายรูปไปด้วยเสมอ วันหนึ่งหลายปีมาแล้ว ขณะที่ผมเดินอยู่บนหาดด้านตะวันตกของเกาะอาดัง ผมมองเห็นอะไรสีขาวไหว ๆ อยู่ข้างหน้า เดินเข้าไปใกล้ก็เห็นปูเสฉวนตัวใหญ่ตัวหนึ่งแต่สิ่งที่เขาอาศัยอยู่แทนที่จะเป็นเปลือกหอยตามปกติ กลับเป็นกระป๋องแป้งตัดครึ่ง สิ่งที่เห็นวันนั้น ได้จุดประกายให้ผมสนใจในปูเสฉวนและต้องการอนุรักษ์ปูเสฉวนไว้ เพราะบนเกาะต่าง ๆ ทั้งในอ่าวไทยและในทะเลอันดามัน แทบจะไม่เห็นปูเสฉวนอีกแล้ว แต่ที่หมู่เกาะอาดังยังมีอยู่อีกมากมาย ปูเสฉวนเกิดในทะเล โดยไม่มีเปลือกหอยติดมากับตัว และเมื่อเริ่มโตจะขึ้นฝั่งหาเปลือกหอยที่ว่างเข้าอาศัยอยู่ และจะเปลี่ยนเปลือกหอยตามขนาดของตัวที่โตขึ้นตลอดเวลา จุดขายอันหนึ่งของหมู่เกาะอาดัง คือ ยังมีปูเสฉวนหลายประเภทจำนวนมากให้ดู



เมื่อผมกลับไปเกาะอาดังอีกครั้งหนึ่ง พบปูเสฉวนตัวใหญ่มากตัวหนึ่งบนหาดเดียวกันกับที่เคยพบปูเสฉวนในกระป๋องแป้ง ห่างจากเกาะอาดังไปทิศตะวันตกเพียง 1 กิโลเมตร คือเกาะราวี เป็นเกาะใหญ่เท่าเกาะอาดังแต่ลักษณะยาวกว่า เกาะราวีมีภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งชายหาดทรายขาวหลายหาด ชายหินหรือโขดหินที่เรียงรายยาวหลายร้อยเมตร ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าโกงกาง นอกจากนั้น ใต้ทะเลรอบเกาะยังมีปะการังที่สวยงามอีกด้วย มุมโปรดของผมที่เกาะราวี คือปลายเกาะด้านตะวันตก ผมได้มีโอกาสถ่ายภาพจากเฮลิคอปเตอร์ ในภาพแรกจะเห็นป่าทุกประเภทบนเกาะราวี เริ่มจากทางซ้ายจะเห็นหาดทรายขาวกับป่าดิบชื้น กลางภาพจะเห็นหาดทรายอีกหาดหนึ่ง แต่ป่าเปลี่ยนเป็นป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ และทางขวาสุดของภาพเป็นป่าโกงกาง ส่วนบนทิวเขาที่เห็นมีทั้งป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง ที่หาดกลางภาพจะมีลำธารไหลมาจากน้ำตกบนฝั่ง ผมขอแนะนำให้ผู้ที่รักธรรมชาติไปกางเต็นท์นอนบนฝั่งเหนือหาดกลางภาพ และควรอยู่อย่างน้อยสองวัน เพราะมีสถานที่ให้เดินสำรวจหลายแห่ง และกิจกรรมให้ทำหลายอย่าง ถ้าเดินลึกเข้าไปในฝั่งไปยังทิวเขา จะเห็นลำธารและน้ำตก นอกจากนั้น สามารถเดินทะลุป่าดิบชื้นไปอีกอ่าวหนึ่ง ระหว่างทางเดินจะผ่านป่าอันสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยต้นตะเคียนสูงใหญ่ และพันธุ์ไม้อื่น ๆ ครั้งหนึ่งผมได้เห็นกระรอกบินตัวเขื่องเกาะอยู่ที่ลำต้นตะเคียน หาดที่เห็นเป็นหาดทรายขาว และละเอียดที่สุดที่ผมเคยเห็นมา ทั้งขาวและละเอียดเป็นแห้งเลยทีเดียว เรือขนาดต่าง ๆ แม้กระทั่งเรือเล็กใช้เครื่องติดท้ายยังเข้าถึงหาดไม่ได้ เพราะมีปะการังน้ำตื้นเต็มไปทั้งอ่าว เวลาน้ำลงเดินลุยน้ำดูปะการังน้ำตื้นได้อย่างสบาย จุดที่ปลายเกาะราวีเป็นมุมสงบที่สุด ทานอาจอยู่ได้หลายวันโดยไม่พบใครเลย แต่ทางอุทยานจะจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ขึ้นที่ปลายเกาะราวี เพื่อให้ความอุ่นใจและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว จากเกาะราวีข้ามมาเกาะบูตังหรือเกาะดง ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศใต้เพียงประมาณ 500 เมตรเท่านั้น ด้านเหนือของเกาะบุตังมีหาดทรายอยู่หลายหาดเดินติดต่อกันได้ หน้าเกาะบูตังเหมาะสำหรับจอดเรือ เพราะมีทั้งเกาะบูตังและเกาะราวีกำลังคลื่นลมให้ ถ้าจอดเรือค้างคืนที่นี่ ตอนเช้าตรู่จะเห็นฝูงลิงออกมาจากป่าจับหอยกิน เกาะบูตังมีป่าที่ยังสมบูรณ์มากที่สุดเกาะหนึ่ง เต็มไปด้วยต้นยางและต้นตะเคียน และบนยอดไม้สูงจะมีรังของนกเหยี่ยวหาปลาหัวเทา ซึ่งถูกจัดอยู่ในประเภทเสี่ยงต่อการที่อาจสูญพันธุ์ได้ ท่านจะเห็นเหยี่ยวประเภทนี้บินหาปลาโฉบไปโฉบมา สำหรับคนที่ชอบดำน้ำ เกาะบูตังมีแนวปะการังยาวหลายร้อยเมตรที่ยังสมบูรณ์โดยเฉพาะปะการังเขากวาง ปะการังจาน ฟองน้ำครก และปะการังอ่อน เป็นต้น นอกจากนั้นบริเวณเกาะเล็กๆ เลยเกาะบูตังออกไปก็ยังดำน้ำได้ และเนื่องจากเกาะเหล่านั้นอยู่ติดกับทะเลลึก นักดำน้ำจึงมีโอกาสที่จะเห็นปลาขนาดใหญ่ เช่นปลาฉลาม ปลาสาก ปลากระเบน ปลาหมอทะเล และเต่าทะเล

ส่วนคนที่ชอบอาหารทะเล สามารถนั่งเรือตกปลา หรือไปยืนตกปลาตามโขดหินก็ได้ เพราะมีชุมชุมมาก ตามโขดหินก็มีหอยนางรมเกาะเต็มไปหมด ท่าจะได้ทานหอยนางรมที่สดที่สุด โดยไปกะเทาะเอาจากโขดหินและนั่งทานบนโขดหินนั้นเลย ผมแนะนำให้ไปทำตอนบ่ายแก ๆ และนำไวน์ขาวใส่ถังแช่น้ำแข็งไปด้วย จะทำให้การทานหอยนางรมจะมีรสชาติที่สุด ถ้าดวงของท่านทำบาปไม่ขึ้น ตกปลาเองไม่ได้เลย ก็ขอซื้อปลาจากชาวเลที่มาวางลอบดักปลาบริเวณเกาะบูตังได้ด้วยราคาที่ถูกมาก

ในช่วงเช้าขอแนะนำให้นั่งเรือเล็กรอบเกาะบูตัง ชมธรรมชาติและปะการังน้ำตื้นเพราะน้ำที่นั่นใสมาก ใกล้ ๆ กับเกาะบูตังมีเกาะเล็ก ๆ 2 เกาะ ถ้าท่านไปถึงที่นั่นขอให้ไปชมให้ได้ เพราะผมถือว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ เกาะหนึ่งมีหินขนาดใหญ่ซ้อนกัน ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดมาได้อย่างไร คงจะเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ อีกเกาะหนึ่งมีหินเกือบกลมก้อนใหญ่มากวางอยู่บนยอดเกาะธรรมชาติ อีกเกาะหนึ่งมีหินเกือบกลมก้อนใหญ่มาก วางอยู่บนยอดเกาะ ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามาจากไหน ขึ้นไปอยู่บนนั้นได้อย่างไร ผมเรียกหินก้อนนั้นว่าลูกนิมิตเทวดา เทวดาท่านคงสร้างลูกนิมิตก้อนนี้ไม่เสร็จ จึงทิ้งลงมาที่โลก เกาะที่หินก้อนนี้วางอยู่เป็นเกาะสุดท้ายในเขตแดนไทย ท่านดูในภาพจะเห็นเกาะราวีอยู่ด้านหลังและเกาะบูตังอยู่ทางซ้าย

นักท่องเที่ยวที่ชอบปีนป่ายภูเขาหินนั้น บริเวณนี้มีเกาะเต็มไปด้วยเนินหิน และโขดหินให้ปีนป่ายให้สะใจ ที่ท้าทายคือตอนโดดจากเรือเล็กขึ้นไปบนเกาะ เพราะหลายครั้งทะเลมีคลื่นไม่สามารถบังคับเรืออยู่นิ่งและเข้าเทียบเกาะได้ และตอนกลับมาขึ้นเรือก็ท้าทายความคล่องแคล่วกันอีก หินบางก้อนลื่นเพราะมีตะไคร่เกาะอยู่ ต้องกะระยะและจังหวะให้ดี บางครั้งต้องคลานสี่เท้าเพราะถ้ายืนจะลื่นหกล้ม ซึ่งเป็นการผจญภัยเล็ก ๆ ที่เพิ่มรสชาติให้กับชีวิต

การเดินสำรวจเกาะ ลุยน้ำ หรือปีนเขานั้นควรใส่รองเท้า Reef Walker ซึ่งเป็นรองเท้ายางใส่กับชุดดำน้ำก็ได้ ถูกออกแบบมาให้ใช้กับทะเลเปียกน้ำได้ พื้นรองเท้าเกาะติดหินทำไห้ไม่ลื่นและแข็งแรงพอที่จะเดินบนปะการัง หรือโขดหินที่เต็มไปด้วยเปลือกหอยนางรมที่แปลมคมได้

ถ้าค้างคืนที่เกาะบูตัง ผมแนะนำให้ตื่น 6 โมงเช้า มาดูพระอาทิตย์ขึ้นเหนือเกาะอาดัง ถ้าโชคดีท้องฟ้าโปร่ง ก็จะเห็นพระอาทิตย์ชัดเจน แต่ถ้าอยู่ที่ด้านตะวันตกของเกาะอาดัง ตอนเย็นจะเห็นพระอาทิตย์ตก และมีโอกาสที่จะเห็นเสมือนว่าดวงอาทิตย์ละลายเมื่อถูกน้ำทะเล

จากเกาะบุตังนั่งเรือไปทิศตะวันออกอีกครึ่งชั่วโมงก็ถึงเกาะหลีเป๊ะ เกาะที่อยู่นอกเขตอุทยาน และมีหมู่บ้านชาวเลตั้งอยู่ มีรีสอร์ท หลายแห่งและร้านค้าไว้บริการนักท่องเที่ยว เกาะหลีเป๊ะอยู่ด้านทิศใต้ของเกาะอาดังห่างกันเพียงประมาณ 1 กิโลเมตร เท่านั้น นักท่องเที่ยวชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวเยอรมันและแสกนดิเนเวียน ชอบมาเที่ยวหมู่เกาะอาดังมากเป็นพิเศษ หลายรายมาเช่าบังกะโลอยู่บนเกาะหลีเป๊ะนานเป็นเดือนสองเดือน ใช้ชีวิตความเป็นอยู่เหมือนชาวเล มีความสุขกับธรรมชาติและชีวิตที่สงบเงียบ และเรียบง่าย

กลางทางระหว่างเกาะบูตังกับเกาะหลีเป๊ะมีเกาะหินงาม ควรจะแวะชมอย่างยิ่ง เพราะที่เกาะนั้นแทนที่จะมีหาดทรายกลับมีหาดหินแทน ทั้งหาดเต็มไปด้วยก้อนหินสีดำมีลักษณะต่าง ๆ ทั้งรี มน กลม ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ บนหาดมีป้ายบอกคำสาปแช่งของเจ้าพ่อตะรุเตาให้คนที่นำเอาหินไปจากเกาะมีอันเป็นไป

นักท่องเที่ยวหลายรายที่นำเอาหินไปต้องรีบเอามาคืน เพราะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับตนจริง ๆ ผมขอแนะนำว่าแค่ถ่ายภาพไปดูเล่นก็น่าจะเพียงพอ และขอแนะนำเพิ่มเติมว่าถ้าจะถ่ายภาพ เมื่อหินสีดำเปียกน้ำจะมันวับขึ้นมาในทันที และรูปจะออกมาอย่างมีสีสัน

จะมีนักท่องเที่ยวบางประเภท ที่เวลาไปเที่ยวไม่ชอบนอนพักผ่อนหรืออยู่นิ่งเฉย และเป็นประเภทที่ต้องมีกิจกรรมทำตลอดเวลา ผมแนะนำให้ไปเที่ยวหมู่เกาะอาดังและควรอยู่สัก 4 – 5 วัน ถึงจะคุ้ม เพราะจะมีอะไรหลายอย่างให้ทำตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืน เริ่มตั้งแต่ตื่น 6 โมงเช้าดูพระอาทิตย์ขึ้น เดินเล่นบนหาดทราย ดำน้ำ นั่งเรือสำรวจเกาะ ปีนเขา บุกป่าสำรวจน้ำตก ถ่ายรูปพันธุ์ไม้ พันธุ์พืช และนกตามเกาะต่าง ๆ เยี่ยมหมู่บ้านชาวเล ตอนบ่ายดำน้ำอีกรอบ ดูพระอาทิตย์ตก ตกปลาหรือดำน้ำกลางคืน นอนบนดาดฟ้าเรือหรือบนหาดดูดาวบนท้องฟ้า สิ่งที่ผมแนะนำนั้นได้เคยทำมาด้วยตนเองแล้วทั้งสิ้น แต่ถ้าท่านชอบดำน้ำอย่างเดียว ควรจะไปหมู่เกาะสิมิลัน เพราะจุดดึงดูดของสิมิลันอยู่ใต้ทะเล ขณะที่การผจญภัยบนเกาะและกิจกรรมบนบกมีไม่มากเท่าที่หมู่เกาะอาดัง ส่วนท่านที่ชอบนั่งนอนพักผ่อนอ่านหนังสือ ก็เหมาะเป็นอย่างยิ่ง ในการพักผ่อน

มาถึงเกาะอาดังทั้งที ต้องไม่พลาดการดำน้ำ หน่วยพิทักษ์ อุทยานฯ มีเรือหางยาวบริการไปยังจุดดำน้ำตามเกาะต่างๆ ราคาเช่าเหมาลำวันละ 800 – 1,000 บาท หรือ หากเช่าเหมาลำเที่ยวรอบเกาะอาดัง – ราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะยาง เกาะจาบัง เกาะหินงาม เกาะดง คิดราคาประมาณวันละ 1,000 – 1,500 บาท จุดชมวิวผาชะโด อยู่บนยอดเขาเหนือเกาะอาดัง จากที่ทำการฯ มีเส้นทางเดินเท้าขึ้นสู่จัดชมวิวใช้เวลาประมาณ 15 นาที บนจุดชมวิวจะเห็นทิวสนเขียวขจีตัดกับแหลมทรายสีขาวราวกับแป้งของเกาะอาดัง และมองเห็นเกาะหลีเป๊ะอยู่ข้างหน้า ที่นี่ยังเป็นจุดชมทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตำได้ในจุดเดียวกัน บนหมู่เกาะอาดัง-ราวี มีน้ำตกสวยงามหลายแห่งไม่น้อยหน้าเกาะตะรุเตา หากต้องการไปเที่ยวน้ำตก ควรติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้ามาถึงหมู่เกาะอาดังแล้วไม่ได้ไปชมวิถีชีวิตของชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ควรจะจัดโปรแกรมไปพักที่นี่ซักคืนสองคืน แล้วจะรู้ว่าที่นี่เป็นสวรรค์ของคนรักธรรมชาติจริง ๆ เดือนธันวาคมถึงเมษายน เป็นช่วงเหมาะที่สุดในการไปเยือนหมู่เกาะอาดัง – ราวี

การเดินทางสู่เกาะอาดัง เส้นทางสะดวกที่สุดคือ มาที่ท่าเรือปากบารา จากจังหวัดสตูลใช้ทางหลวงหมายเลข 406 ถึงบ้านฉลุง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 416 ต่อด้วยทางหมายเลข 4052 ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา ในช่วงฤดูท่องเที่ยวมีเรือโดยสารออกทุกวัน เรือออกเวลา 10.30 น. ส่วนเที่ยวกลับ 9.00 น. ราคาค่าโดยสารไปกลับท่าเรือปากบารา – เกาะตะรุเตา – เกาะอาดัง คนละ 660 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (074)781532

เกาะอาดังมีเรือนแถว 2 หลัง หลังละ 10 ห้อง พักได้ห้องละ 4 คน และมีเต็นท์ขนาดต่าง ๆ ให้บริการ ควรจองล่วงหน้า 30 วัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่พักได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (074)729002 – 3 หรือที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทรศัพท์ (02)5797047-8 ส่วนเรื่องอาหาร บนเกาะมีร้านบริการนักท่องเที่ยว อัตราค่าอาหารประมาณคนละ 250 – 300 บาทต่อวัน หากไปถึงแล้วที่พักบนเกาะอาดังเต็ม ก็สามารถนั่งเรือหางยาวของอุทยานฯ คนละ 20 บาท ไปพักที่เกาะหลีเป๊ะได้ มีรีสอร์ทเอกชนบริการหลายแห่ง

ล่องเรือเยือนหมู่เกาะโจรสลัดที่ ตะรุเตา

ผมได้ยินชื่อเกาะตะรุเตาตั้งแต่เป็นเด็กและใฝ่ฝันที่จะไปเที่ยวมานานแล้ว ทั้งประวัติของเกาะ เมื่อครั้งเป็นคุกขัง นักโทษอุกฉกรรจ์ และนักโทษทางการเมือง ช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องราวของโจรสลัดตะรุเตาที่โหดเหี้ยม ธรรมชาติที่สวยงามของเกาะตะรุเตา ที่ตั้งของเกาะอยู่ไกลโพนสุดเขตแดนของประเทศ และทะเลลึกเต็มไปด้วยฉลามร้าย ผมมีโอกาสไปเยือนเกาะตะรุเตาเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2535 นี้เอง และเป็นการเปลี่ยนชีวิตของผมด้วย เพราะการไปตะรุเตาครั้งนั้น ทำให้ผมได้มีอาชีพเพิ่มอีกหนึ่งอาชีพ คือเป็นนักเขียนนิยายผจญภัย

รัฐบาลไทยได้ยกเลิกคุกบนเกาะตะรุเตา และประกาศให้เกาะตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลในปี 2515 ซึ่งรวมทั้งหมู่เกาะอาดังซึ่งเป็นหมู่เกาะใต้สุดของแผ่นดินไทยห่างจากตะรุกเตาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 45 กิโลเมตร ผมจะพูดถึงหมู่เกาะอาดังในบทต่อไป เพราะมีทั้งเรื่องราวที่จะเล่าให้ฟังและถ่ายภาพให้ดูมากมาย บทนี้จะพูดถึงเกาะตะรุเตาเท่านั้น

การเดินทางไปเกาะตะรุเตาในปัจจุบันนับว่าสะดวกมาก แต่ก็ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวัน และพาหนะทุกประเภท ทั้งเครื่องบิน ขึ้นรถลงเรือ วิธีที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด คือ เดินทางโดยสารการบินไทยลงที่สนามบินหาดใหญ่ซึ่งใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมงกับ 5 นาที แล้วนั่งรถอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ไปยังท่าเรือปากบาราที่อำเภอละงู ในจังหวัดสตูล ลงเรือโดยสารหรือเรือของอุทยานตะรุเตาไปอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่งจึงจะไปถึงเกาะตะรุเตา ในอดีตเรือจะไปขึ้นหน้าที่ทำการอุทยานที่อ่าวพันเตมะละกา และอ่าวตะโละวาว ที่อยู่ด้านตะวันออก หลังจากนั้นก็จะใช้ท่าเรืองอย่างดีที่สร้างไว้หลายปีมาแล้ว ที่อ่าวตะโละวาวเป็นทางเข้าหลักของอุทยาน ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวตะรุเตาได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากเมื่อถึงหน้ามรสุมระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง ตุลาคมของทุกปี คลื่นลมด้านอ่าวพันเตมะละกาจะแรงมาก และเป็นอันตรายต่อการเดินเรือและนักท่องเที่ยว ส่วนด้านอ่าวตะโละวาว มีเกาะหลายเกาะเป็นกำลังคลื่นลม ทำให้เรือเข้าเทียบท่าได้สะดวกและปลอดภัย การทำถนนข้ามเกะเป็นการเปิดกลางเกาะตะรุเตาให้นักท่องเที่ยวได้เห็นสภาพป่าดงดิบที่สมบูรณ์ เพราะที่ผ่านมาเที่ยวกันเฉพาะตามชายหาดรอบๆ เกาะเท่านั้น น้อยคนนักที่จะกล้าล่วงล้ำเดินบุกป่าฝ่าดงดิบเข้าไปใจกลางเกาะที่มีความยาว 24 กิโลเมตร และส่วนที่กว้างที่สุดมีความยาว 11 กิโลเมตร และในอดีตเกาะตะรุเตาได้ชื่อว่ามีไข้มาลาเรียชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ผมมีโอกาสถ่ายภาพอ่าวตะโละวาวจากเฮลิคอปเตอร์ จะเห็นหินที่ตั้งเป็นสัญลักษณ์ของอ่าว และท่าเทียบเรือคอนกรีตที่สร้างไว้หลายปีมาแล้ว บริเวณพื้นที่ราบบนเกาะใต้ท่าเรือลงมาที่มีลูกศรชี้ คือสถานที่คุมขังนักโทษอุกฉกรรจ์เกือบสามพันคนในอดีต

ส่วนค่ายของนักโทษทางการเมือง อยู่ที่อ่าวตะโละอุดัง ด้านใต้สุดของเกาะ ก่อนจะขึ้นรถเดินทางข้ามเกาะไปอ่าวพันเตมะละกา ท่านควรเดินไปดูสถานที่ที่เคยเป็นที่คุมขังนักโทษซึ่งยังมีร่อยรอยเหลืออยู่ เพราะไม่ไกลจากท่าเทียบเรือนัก เดินไปประมาณ 20 นาที ขณะนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำลังก่อสร้างรื้อฟื้นสถานที่ในจุดนี้ ให้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์สำหรับนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม

จากอ่าวตะโละวาวมีถนนระยะทาง 12 กิโลเมตร ไปยังที่ทำการอุทยานและที่พักที่อ่าวพันเตมะละกา ทางอุทยานมีรถรับส่ง ซึ่งออกแบบให้นักท่องเที่ยวนั่งดูทิวทัศน์ธรรมชาติระหว่างทางได้ เกาะตะรุเตามีสภาพป่าหลายระเภทตั้งแต่ป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณทางด้านเหนือสุดของเกาะ ซึ่งผลัดใบช่วงหน้าแล้งจนค่อยกลายเป็นป่าดิบแล้งไปถึงกลางเกาะซึ่งมีภูเขาสูง และป่าดิบชื้นจนถึงด้านใต้สุดของเกาะ รอบ ๆ เกาะก็มีป่าโกงกางเป็นระยะ ๆ

ท่านที่ชอบเดินป่าผจญภัยควรอยู่บนเกาะตะรุเตาหลายวัน เพราะมีเส้นทางให้เดินไปสำรวจน้ำตกหลายแห่ง รวมทั้งนั่งเรือเข้าไปสำรวจแม่น้ำพันเต ซึ่งสองข้างเต็มไปด้วยป่าโกงกางที่สมบูรณ์ที่สุด จนถึงเกือบสุดทางที่ถ้ำจระเข้ที่มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก ดังนั้น วันเดียวหรือสองวันเที่ยวไม่ทั่วทั้งเกาะแน่นอน เส้นทางที่เดินสนุกเส้นหนึ่ง คือเดินจากที่ทำการอุทยานที่อ่าพันเตฯ ไปยังอ่ามอแระ ซึ่งสวยงามมาก เพราะมีหาดโค้งยาวและบนบกมีต้นมะพร้าวน้ำทะเลที่นั่น ผมเคยดื่มน้ำมะพร้าวที่นั่น ซึ่งรสชาติหวานดีทีเดียว ผมได้แนะนำกรมป่าไม้หลายครั้ง ให้สร้างที่พักที่อ่าวมอแระ เพราะมีชายหาดและธรรมชาติที่สวยงามและมีน้ำจืดเพียงพอ สักวันหนึ่งคงจะเห็นที่พักมาตรฐานเกิดขึ้นที่อ่าวมอแระ จริง ๆ แล้วรัฐบาล หรือกรมป่าไม้ไม่เคยลงทุนสร้างที่พัก หรือโรงแรมที่มีมาตรฐานสากลสำหรับนักท่องเที่ยวในอุทยานเลยสักแห่ง ทั้ง ๆ ที่เรามีอุทยานทั้งทางบกและทางทะเลที่สวยงามมากมาย ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติให้ไปพักได้หลายวัน แต่สิ่งที่ขาดคือที่พัก บ้านพักที่นักท่องเที่ยวไปพักกันตามอุทยานคือ บ้านรับรองของทางราชการหรือบ้านที่สร้างขึ้นสำหรับเจ้าหน้าที่เท่านั้น

จากอ่าวมอแระ ถ้าท่านยังมีแรงอยู่ก็ควรเดินต่อไปให้ถึงอ่าวสน ซึ่งมีหาดที่กว้างและยาวที่สุดบนเกาะตะรุเตา คือ ประมาณ 3 กิโลเมตร หาดสน ที่ทั้งกว้างและยาว ที่อ่าวสนมีหน่วยพิทักษ์อุทยานตั้งอยู่ ถ้าเดินกลับไปอ่าวพันเตฯ ไม่ไหว สามารถเช่าเต็นท์นอนพักที่นั่นได้ มีห้องน้ำบริการ แต่ถ้าไม่อยากนอนเต็นท์และจำเป็นต้องกลับ ก็ขอให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่อ่าวสนขับเรือไปส่งให้ที่อ่าวพันเตก็ได้ ส่วนท่านที่เป็นนักจักรยานภูเขา สามารถนำจักรยานไปขี่ไปกลับระหว่างอ่าวพันเต กับอ่าวสนได้อย่างสบาย การเดินป่าที่นี่ต้องคอยระวังฝูงวัวป่า ซึ่งมีประมาณ 200 ตัว ซึ่งแต่เดิมก็คือวัวบ้านนั่นเอง เคยมีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บนตะรุเตาหลังจากที่รัฐบาลได้ยกเลิกคุกไปแล้ว ต่อมาเมื่อประกาศเป็นอุทยาน ชาวบ้านได้ย้ายออกจากเกาะไป แต่ทิ้งวัวจำนวนหนึ่งไว้ ซึ่งได้ออกลูกหลานมาจนกลายเป็นวัวป่าไปแล้ว และมีความดุร้ายพอสมควร แต่ตามปกติจะตื่นและกลัวคน จะไม่เข้าใกล้

ถ้าใครมีเวลาน้อย อยากจะเที่ยวได้หลายหาดในวันเดียว ควรว่าจ้างเรือหางยาวที่ที่ทำการอุทยาน โดยว่าจ้างทั้งวัน หลังอาหารเช้าแล่นเรือเข้าไปในแม่น้ำพันเตก่อน เพื่อชมป่าโกงกาง ต่อไปจึงชมถ้ำจระเข้ เข้าชมถ้ำแล้วกลับมาทานอาหารกลางวันที่ที่ทำการอุทยาน หรือสั่งอาหารกลางวันไว้ล่วงหน้า แล้วแวะมารับไปนั่งล้อมวงทานกันใต้ต้นมะพร้าวที่อ่าวมอแระ ซึ่งผมรับรองว่าให้บรรยากาศดีกว่าทานที่ห้องอาหารของอุทยานมากนัก ถ้าโชคดี ก็อาจจะเห็นฝูงนากห้าหกตัวลงมา เล่นน้ำจับปลาในหาดข้างหน้า หรือเห็นนกเงือกบินผ่าน ซึ่งผมถ่ายภาพนกเงือก 2 ตัว บินผ่านเหนืออ่าวมอแระมาได้ หลังจากนั้นลงเรือต่อไปยังอ่าวสน ผมแนะนำให้ไปที่ด้านใต้สุดของอ่าวสนซึ่งเป็นมุมโปรดของผม ทุกครั้งที่ไปตะรุเตาจะต้องไปจอดเรือนอนค้างที่ตรงนั้น เพราะสงบเงียบมากไม่มีผู้คนเลย ถ้าไปนั่งเงียบ ๆ บนฝั่งจะมีโอกาสเห็นสัตว์ป่า ผมได้เห็นตัวนากวิ่งจากป่าไปจับปลาในทะเล และเห็นรอยของหมูป่าและกระจงหลายจุดด้วยกัน ที่ปลายหาดด้านใต้สุดของอ่าวสน จะมีคลองไหลจากเขามาลงทะเล ถ้ำน้ำลงไม่มากนัก ให้นำเรือเข้าไปในคลองนั้น ครั้งหนึ่งได้พาเพื่อนไปเที่ยวที่นั่น เมื่อมองเข้าไปจะเห็นป่าโกงกางไปจนถึงป่าดงดิบและทิวเขาสูงชัน ให้ความรู้สึกว่ากำลังเดินทางเข้าไปผจญภัยในป่าลี้ลับสุดขอบฟ้า แต่รับรองว่าปลอดภัยแน่นอน ผมไปมาหลายครั้งแล้วยังไม่เคยเจอมนุษย์กินคน หรือ คิงคอง เลยสักครั้ง แม้แต่จระเข้ซึ่งอยากเห็นมาก เพราะครั้งหนึ่งเคยชุกชุมก็ยังไม่ได้เห็นสักตัว เนื่องจากถูกคนล่าหมดไปเมื่อหลายปีแล้ว

น้ำในคลองใสและสะอาด เวลาน้ำนิ่งจะเห็นภาพสะท้อนในน้ำได้ชัดดังภาพที่นำมาให้ชม เมื่อเข้าไปในคลองสักพักหนึ่งจะเห็นลำธารไหลมาลงคลองเป็นระยะๆ ท่านจะเลือกลำธารไหนก็ได้ จอดเรือแล้วลุยน้ำครึ่งน่องตามลำธารขึ้นไป เพราะเดินบนฝั่งไม่ได้เนื่องจากเป็นป่าทึบ จะได้สัมผัสกับธรรมชาติที่สมบูรณ์จริง ๆ พวกเราไปครั้งแรก หวังที่จะพบน้ำตกที่เป็นต้นกำเนิดลำธาร แต่เดินกันเป็นชั่วโมงยังไม่ถึงต้นน้ำเลยตัดสินใจกลับ ถ้านั่งเรือตามคลองลึกเข้าไปเรื่อย ๆ จะอยู่ท่ามกลางป่าโกงกางที่กว้างใหญ่ คลองเริ่มแคบลงและตื้นขึ้น จนเรือเข้าไปอีกไม่ได้จึงได้หันเรือกลับ สำหรับผู้ชอบธรรมชาติจริง ๆ ควรนำเต็นท์มากางนอนค้างที่หาดสน และนำอาหารเย็นมาด้วย เพราะสิ่งที่พิเศษสุดอีกสิ่งหนึ่งที่นี่ คือ นั่งบนชายหาดดูดวงอาทิตย์ค่อย ๆ ตก และลับขอบฟ้าข้างหน้าข้างหน้า ถ้าอากาศดีจะเห็นเกาะอาดังและดวงอาทิตย์ตกที่เกาะอาดังตามภาพที่เห็น

อีกภาพหนึ่งนั้น ผมถ่ายภาพดวงอาทิตย์กำลังลับขอบทะเล และมีเรือประมงแล่นผ่านมาพอดี ผมไปทะเลนับครั้งไม่ถ้วน มีภาพถ่ายดวงอาทิตย์ทั้งขึ้นและตกมากมาย และไม่เคยเบื่อเลยที่จะตื่นหกโมงเช้ามานั่งหัวเรือคอยถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้น และตอนเย็นนั่งเฝ้าดูพระอาทิตย์ตก ก็ยอมรับว่าเป็นความบ้าชนิดหนึ่ง แต่เป็นความบ้าที่ให้ความสุขแก่ตัวเอง และไม่เป็นพิษภัยต่อใคร บางครั้งผมก็นั่งเรือเล็กไปลอยเรือกลางทะเล เพื่อรอถ่ายรูปให้ติดเรือขณะที่พระอาทิตย์กำลังขึ้นหรือกำลังตก อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากที่เกาะตะรุเตา คือบนหาดสนจะมีทั้งปูลมและปูเสฉวนจำนวนมากทั้งวิ่ง และเดินเต็มหาดไปหมด โดยเฉพาะตอนเช้าก่อนแดดจัด และช่วงบ่ายแก่ ๆ เมื่อแสงอาทิตย์เริ่มอ่อนลง นั่งนอนบนชายหาดที่เรียบกว้าง ดูปูเสฉวนในเปลือกหอยลักษณะต่าง ๆ กัน ก็เป็นความสุขของผู้ที่รักธรรมชาติ ถ้าเห็นเปลือกหอยเปล่าบนชายหาด ขอความกรุณาอย่าเก็บไป ทิ้งไว้เพื่อให้ปูเสฉวนมาเปลี่ยนเปลือกหอย เพราะปูเสฉวนมีอายุเกิน 25 ปี และมีการเติบโตขึ้นตลอด เมื่อตัวโตก็ต้องหาเปลือกปอยที่ใหญ่กว่าตัว เพื่อไปอยู่ใหม่ ถ้าหาเปลือกใหม่ไม่ได้เขาก็จะต้องตาย เพราะตัวของเขาอ่อนนิ่มและไม่มีอะไรป้องกัน ผมเคยเห็นปูเสฉวนอาศัยอยู่ในกระป๋องแป้งที่เกาะอาดังซึ่งจะเล่าให้ฟังในบทต่อไป ที่ชายหาดด้านใต้สุดของหาดสนเป็นที่อยู่ของหอยทับทิมจำนวนมาก นับว่าเป็นปูเสฉวนขนาดเล็กที่สุด ผมเคยพาเพื่อนไปปล่อยเปลือกหอยให้ปูเสฉวนทั้งที่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง

นอกจากปูเสฉวนแล้ว บางครั้งถ้าโชคดีจะเห็นเต่าขึ้นมาวางไข่ และเห็นปลาโลมามาปรากฏตัวที่ชายฝั่งของหาดสนด้วย ด้านใต้สุดของเกาะตะรุเตาคือ อ่าวตะโละอุดัง มุมโปรดอีกแห่งหนึ่งของผม ไปตะรุเตาทีไรจะจอดเรือค้างคืนอยู่สองอ่าว คือ อ่าวสนกับอ่าวตะโละอุดัง อ่าวนี้เคยเป็นที่คุมขังนักโทษทางการเมือง 70 คน และนักโทษอุกฉกรรจ์จำนวนหนึ่ง ในอดีตเป็นอ่าวที่มีหาดทรายโค้งยาวสวยมาก เมื่อเวลาน้ำลงจะทำให้หาดลงไปไกลมาก ต้องเดินจากเรือเล็กหลายร้อยเมตรกว่าจะถึงฝั่ง มีร่อยรอยของถนนยาว 11 กิโลเมตร ที่นักโทษได้สร้างไว้เพื่อนเชื่อมอ่าวนี้กับอ่าวตะโละวาว สิ่งพิเศษสำหรับอ่าวนี้ นอกจากทางประวัติศาสตร์และทิวทัศน์แล้ว บนหาดยังเต็มไปด้วยชีวิตของสัตว์ทะเลอีหลายประเภท เป็นระบบนิเวศที่น่าศึกษามีทั้งปูก้ามดาบหรือปูทหาร ปลาตีน ตัวเพรียง และหอยตลับซึ่งมีอยู่เต็มหาด เดินบนหาดจะเหยียบเปลือกหอยตลับไปตอดทาง ผมเคยขออนุญาตเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ที่นั่นเก็บหอยตลับไปทานบนเรือ ซึ่งเขาก็อนุญาตเพราะมีมากมายเหลือเฟือ พวกเจ้าหน้าที่ที่นั่นก็ทานกันเป็นประจำเหมือนกัน ทำให้ประหยัดค่าอาหารไปได้หลายมื้อ

จากอ่าวตะโละอุดังมองข้ามช่องแคบที่กว้าง 5 ไมล์ทะเล จะเห็นเกาะลังกาวีของมาเลเซียชัดเจน เขตแดนไทย – มาเลเซีย อยู่กึ่งกลางของช่องแคบนั้น ส่วนคนที่ชอบดำน้ำจะผิดหวัง เพราะรอบเกาะตะรุเตาไม่มีจุดดำน้ำที่คุ้มค่าพอจะไปดำ เนื่องจากน้ำขุ่นและปะการังมีน้อยมาก ต้องเดินทางต่อไปเกาะกลางและเกาะไข่ซึ่งอยู่ครึ่งทางระหว่างเกาะตะรุเตากับเกาะอาดัง บริเวณรอบ ๆ ทั้งสองเกาะนั้นนำใส และมีปะการังให้ดำดูได้ บนเกาะไข่มีรูปประตูหินโค้งครึ่งวงกลมหลายคนคงเคยเห็นจนชินตาในหนังสือนำเที่ยวต่าง ๆ ประตูหินนั้นถือว่าเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล

คนรักทะเลที่มาถึงเกาะตะรุเตา ควรหาโอกาสนั่งเรือเที่ยวรอบเกาะ ที่อุทยานฯ มีเรือหางยาวเหมาเที่ยวรอบเกาะ ราคา 2,000 บาท และมีเรือ Ecotour ของอุทยานฯ บริการทุกวัน คิดราคา 320 บาทต่อคน พร้อมอาหารกลางวันและน้ำดื่ม เรือจะพาแวะอ่าวสน อ่าวตะโละวาว อ่าวตะโละอุดัง เกาะไข่ เกาะกลาง ดูนก เป็นความเพลิดเพลินอีกอย่างหนึ่ง ที่หาได้จากเกาะสวรรค์แห่งนี้ ที่มีเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ ผ่านป่าดงดิบ จากอุทยานฯ ก่อนผาโต๊ะบู เป็นจุดชมวิวประจำเกาะตะรุเตา อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ ใช้เวลาเดินป่าขึ้นหน้าผาประมาณ 15 นาที จุดชมวิวอีกแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากที่ทำการไป 1.5 กิโลเมตร เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอ่าวพันเตมะละกากับอ่าวจาก ถ้ายังไม่เหนื่อย แนะนำให้ไปเที่ยวต่อที่ถ้ำจระเข้ อุทยานฯ มีเรือหางยาวนำเที่ยวถ้ำจระเข้ ราคาคนละ 40 บาท หรือเหมาลำละ 400 บาท ช่วงปลอดมรสุมราวเดือนธันวาคม ถึงเมษายน เหมาะที่สุดในการเยือนเกาะตะรุเตา

การเดินทางสู่เกาะตะรุเตา เส้นทางสะดวกที่สุดคือมาที่ท่าเรือปากบารา จากจังหวัดสตูลใช้ทางหลวงหมาเลข 406 ถึงบ้านฉลุงแยกซ้ายทางหลวงหมายเลข 416 ต่อด้วยทางหมายเลข 4052 ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา ในช่วงฤดูท่องเที่ยวมีเรือโดยสารออกทุกวัน เวลา 10.30 น. และ 15.00 น. ส่วนเที่ยวกลับเวลา 9.00 น. และ 14.00 น. ราคาค่าโดยสารคนละ 110 บาท หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (074)781532

อุทยานฯ มีบ้านพัก เรือนแถว และเต็นท์ ขนาดต่าง ๆ ให้บริการมากมาย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่พักได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (074)781285, 729002-3 หรือที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ หมายเลขโทรศัพท์ (02)8797047 – 8 ส่วนเรื่องอาหาร บนเกาะมีร้านอาหาร บริการนักท่องเที่ยวเวลา 08.00 – 22.00 น.

ชื่นชมประวัติศาสตร์ดื่มด่ำธรรมชาติที่ “ผาแต้ม”

ถ้าแบ่งอุทยานในประเทศไทยออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะของการท่องเที่ยวแล้ว ผมขอยกให้อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งต่อไปจะเรียกย่อ ๆ ว่า อช.ผาแต้ม เป็นสถานที่สำหรับเดินระยะไกลหรือ Trekking ในระดับโลก (World Class) ทีเดียว แต่มีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้จักและ ไม่เคยไปอุทยานแห่งนี้ ผมรับรองว่า ผู้ที่ชอบเดินป่าไปสัมผัสกับชีวิตกลางแจ้งและธรรมชาตินั้น ถ้าได้ไปผาแต้มแล้วจะต้องติดใจและอยากกลับไปอีก ผมได้ไปมาแล้วสามครั้งยังไม่เบื่อเลย และถ้ามีโอกาสก็อยากจะไปอีกเพราะยังเดินไปทั่วอุทยาน

ที่มาของชื่อผาแต้ม คือภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์บนผนังหินปูนยาวประมาณ 180 เมตร สูง 40 เมตร มีทั้งหมดไม่น้อยกว่า 300 ภาพ เป็นภาพคนกับกิจกรรมต่าง ๆ ในสมัยนั้น ภาพสัตว์ เช่น ช้าง เต่า และปลาเป็นต้น และภาพเครื่องมือจับปลาแสดงให้เห็นว่าปลาเป็นอาหารหลักของผู้คนในบริเวณนั้นมาแต่ดึกดำบรรพ์ ทางอุทยานฯ และกรมศิลปากรได้ร่วมกันอนุรักษ์ และดูแลเป็นอย่างดีเพื่อรักษาให้ภาพอันล้ำค่าเหล่านั้น คงอยู่เป็นมรดกของลูกหลานของเราต่อไป

ภาพที่ปรากฏอยู่นั้นส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพดี และสามารถเห็นได้ชัดว่าเป็นรูปร่างลักษณะและกิจกรรมอะไร ผู้ที่สนใจในโบราณคดีและประวัติศาสตร์จะนั่งดู และศึกษาภาพเหล่านั้นได้ทั้งวัน มีเก้าอี้ยาวไว้นั่งพักหรือนั่งดูภาพก็ได้ และมีรั้วไว้ป้องกันพวกมือไม่อยู่สุข ไม่ให้ไปเพิ่มเติมสิ่งประดิษฐ์แปลกปลอมลงบนผนัง ผมขอเตือนไว้ก่อนว่าทางขึ้นลงไปสู่ผนังวาดภาพนั้นสูงชันพอสมควร แต่ไม่อันตราย เพราะเป็นบันไดที่แข็งแรงตลอดทาง ยืนพักเหนื่อยและหอบไปด้วยได้ โดยเฉพาะขากลับขึ้นมา แต่ก็คุ้มกับที่จะลงไปดูเพราะไหน ๆ ก็ได้ดินทางไปถึงที่นั่นแล้ว

อช.ผาแต้ม มีลักษณะพิเศษและจุดขายแตกต่างจากอุทยานแห่งอื่น ๆ มีทั้งศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม นอกจากภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์แล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานเป็นป่าโปร่งบางแห่งมีพื้นเป็นหินแกรนิตสลับกับทุ่งดอกไม้ ซึ่งเมื่อเข้าหน้าแล้งจะออกดอกสีต่าง ๆ เต็ม ทุ่งทั้งสีเหลือง สีขาว และสีม่วงเป็นต้น ผู้ที่มีนัยน์ตาศิลปะและมีฝีมือทางวาดภาพสีน้ำมันหรือสีน้ำ อาจจะเตรียมตัวไปอยู่ได้หลายวัน เพราะจะได้ภาพที่สวยงาม โดดเด่น และแตกต่างจากภาพของสถานที่อื่น กลับมาอวดญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงได้อย่างแน่นอน ทางเดินศึกษาธรรมชาติที่ทางอุยานได้จัดทำไว้มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 60 กิโลเมตร จากจุดใต้สุด คือ ที่ผาแต้มไปถึงจุดเหนือสุด ทางเดินผ่านป่าโปร่ง ทุ่งดอกไม้ หินรูปร่างแปลกประหลาด ลักษณะต่าง ๆ หน้าผาสูงชัน น้ำตกหลายแห่งและที่พิเศษกว่า ที่อื่น คือ เราเดินอยู่บนสันเขาที่สูงมาก จึงมีอากาศเย็นสบาย มีลมพัดตลอด ป่าไม่ทึบจึงทำให้มองเห็นวิวรอบ ๆ ตัว โดยเฉพาะแม่น้ำโขงซึ่งไหลขนานไปตลอดความยาวของอุทยานและฝั่งตรงข้าม คือประเทศลาว ตลอดเส้นทางจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดธรรมชาติทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว เป็นสวรรค์สำหรับนักถ่ายภาพและนักวาดภาพ เพราะมีวิวให้ถ่ายและวาดมากมาย ที่พิเศษสุดอีกสิ่งหนึ่งคือ ที่ผาแต้มจะเป็นจุดที่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนแห่งใดทั้งสิ้นในประเทศไทย จึงมีนักท่องเที่ยวหลายคนไปกางเต็นท์ เพื่อรอดูพระอาทิตย์ขึ้นเป็นคนแรกของวันนั้น

ผมมีข้อแนะนำบางประการที่จะทำให้การไปเที่ยว อช.ผาแต้ม สนุกสนานเต็มที่ ข้อแนะนำข้อแรก คือ อย่าไปคนเดียว ไม่ได้เพราะกลัวท่านจะหลงทาง รับรองว่าไม่หลงเพราะมีป้ายบอกเส้นทางชัดเจน และไม่ใช่ป่าทึบดงดิบ แต่ที่อยากให้ไปหลายคน เพื่อจะได้มีคนคอยผลัดกันถ่ายรูปให้ เพราะใครไปที่นั้นก็อยากมีรูปเป็นที่ระลึกกันทั้งนั้น โดยเฉพาะนั่งบนชะง่อนผา หรือผามองไปด้านหลังเห็นทั้งแม่น้ำโขง และประเทศลาวหรือถ่ายภาพกับดอกไม้หลากสีในทุ่งหญ้าและประติมากรรมหินปูนรูปร่างแปลก ข้อแนะนำข้อที่สองคือ ให้เตรียมแบตเตอรี่ และถ่านสำรองสำหรับกล้องถ่ายรูปด้วย เพราะเมื่อท่านเดินออกจากบริเวณผาแต้มที่มีภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีร้านค้าอยู่หลายร้านแล้ว ระหว่างทางจะไม่มีร้านค้า เลย เนื่องจากเราจะเดินอยู่บนสันเขาซึ่งเป็นที่โล่ง จะสัมผัสกับแดดและลมมากหน่อย ข้อแนะนำที่สามคือ ใครที่กลัวแสดงแดด เพราะแสงแดดจะทำให้ผิวคล้ำ ควรใส่เสื้อแขนยาวและมีหมวกไปด้วย ส่วนรองเท้านั้นควรต้องเลือกคู่ที่ใส่แล้วเดินสบายที่สุด เพราะต้องเดินหลายชั่วโมง ผู้ที่หวังจะซื้อรองเท่าคู่ใหม่ แล้วนำไปใส่เดินอวดที่นั่น อย่าทำเป็นอันขาด จะเสี่ยงต่อการถูกรองเท้ากัดอย่างมาก และจะทำให้เท้าของท่านปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะโอกาสที่จะเตะหินระหว่างเดินเป็นไปได้มาก ส่วนพื้นรองเท้าควรเป็นพื้นยาง เพื่อจะได้เกาะติดพื้นหิน แต่พื้นหินบน อช. ผาแต้ม เป็นหินสากที่ไม่ลื่น จึงเดินได้สบายมาก ถ้าท่านมีเวลาควรใช้เวลาเที่ยว อช.ผาแต้ม สักสามวัน ติดต่อทางอุทยานให้ประสานกับ อบต. ก็มีคนท้องถิ่นที่ชำนาญเส้นทางรอบรู้เรื่องพื้นที่ สามารถตอบคำถามนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งเป็นการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม และมีรายได้จากกิจกรรมท่องเที่ยวในอุทยานด้วย บริเวณนอกเขตอุทยานมีหมู่บ้านตั้งอยู่เป็นหย่อม ๆ หลายหมู่บ้าน อยู่มาแต่ดั้งเดิม มีความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ ถ้ามีเวลาขากลับอาจแวะเยี่ยมหมู่บ้านบางแห่งได้ ซึ่งมีของพื้นเมืองไว้ขายนักท่องเที่ยวด้วย เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของ อช.ผาแต้ม คือมีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง ที่มีชื่อที่สุด คือน้ำตกสร้อยสวรรค์ นอกจากตัวน้ำตกซึ่งสวยงามแปลกกว่าน้ำตกอื่นแล้ว ผมยังชอบบริเวณที่เป็นที่ตั้งของน้ำตกสร้อยสวรรค์มากเป็นพิเศษ บริเวณรอบ ๆ น้ำตกเป็นผาหินและลานหิน สามารถยืนมองหรือชะโงกไปดูน้ำตกให้ชัด ๆ ได้ แต่ก็หวาดเสียวเหมือนกัน ไม่สมควรหยอกล้อผลักกันเป็นอันขาด เพราะถ้าตกลงไปโอกาสตายมีสูงมาก




บริเวณห่างออกมาอีกชั้น เป็นป่าโปร่งมีลำธารไหลผ่านซึ่งลงเล่นน้ำได้ ก้นลำธารเป็นหินและบางแห่งถูกน้ำเซาะเป็นแอ่ง รูปกลมบ้าง รูปรีบ้างเหมือนกับอ่างอาบน้ำ และมีทุ่งหญ้าซึ่งเดินเล่นชมทิวทัศน์ได้อย่างปลอดภัย ผมเคยเสนอว่ากรมป่าไม้น่าจะลงทุนสร้างที่พักในบริเวณนั้น เพราะจะทำให้นักท่องเที่ยวพักอยู่ได้หลายวัน ปัจจุบันไม่มีที่พักหรือโรงแรกที่ได้มาตรฐานใน อช.ผาแต้ม ถ้านักท่องเที่ยวไม่พักในเต็นท์ ก็ต้องไปพักที่โรงแรมในอำเภอโขงเจียมหรือกลับไปพักในตัวจังหวัดอุบลราชธานี

เส้นทางที่เดินไปเที่ยว อช.ผาแต้ม เป็นทางศึกษาธรรมชาติถึง 5 ชั่วโมง ไม่เคยมีใครบ่นเบื่อ หรือเหน็ดเหนื่อย ทุกคนที่ได้ไปสัมผัส ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ ทุกคนตื่นเต้นกับธรรมชาติที่ได้สัมผัสเป็นระยะๆ และเห็นด้วยกว่าเส้นทางเดิน Trekking ใน อช.ผาแต้ม นั้นเป็นระดับ World Class จริง ๆ จุดที่สร้างความประทับใจชาวต่างชาติทั้งหลายมากที่สุด คือจุดที่ไปนั่งทานอาหารกลางวันที่บริเวณน้ำตกสร้อยสวรรค์ โดยทางอุทยานได้สร้างศาลาไม้อย่าง ง่าย ๆ อยู่บนเนินกลางป่าโปร่งเห็นวิวได้โดยรอบ ทุกคนบอกว่าอยากมีเวลามากกว่านี้ เพื่อที่จะได้เดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามอย่างเต็มที่ ยิ่งถ้ามีที่พักที่ดีจะทำให้อยู่ได้เป็นสัปดาห์ เพราะป่าแถบนั้นเป็นทั้งป่าเมืองร้อน หรือป่าหน้าฝน (Tropical Rain Forest) ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก มีสิ่งที่น่าศึกษามากมายทั้งพันธุ์สัตว์ พันธุ์ไม้ พันธุ์พืช ข้อแนะนำข้อสุดท้าย คือควรหาเวลาช่วงขากลับแวะทานอาหารบนแพในแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม มีปลาแม่น้ำโขงหลายชนิดที่ปรุงด้วยรสชาติของอีสานแท้ และยังมีกุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ ๆ จากแม่น้ำมูลที่ไหลลงแม่น้ำโขงมาให้รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย พร้อมกับดูวิวในแม่น้ำโขงไปด้วย

รับรองได้ว่า ทริปผาแต้มจะสมบูรณ์แบบที่สุด ถ้าหากได้ดูพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในประเทศ ยิ่งถ้าไปเที่ยวในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม จะมีทะเลกหมอกให้ชมในยามเช้า บริเวณอุทยานฯ มีจุดชมทิวทัศน์เหนือลำน้ำโขงที่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นหลายแห่ง แต่จุดที่ขอแนะนำอยู่ที่ ผาชนะได และผากำปั่น นักท่องท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินเท้าศึกษาธรรมชาติจะถูกใจแน่ ที่นี่มีให้เลือกหลายเส้นทาง แต่ที่ยอดนิยมคงเป็น ป่าดงนาทาม ในช่วงปลายฝนไปจนถึงฤดูหนาว เป็นช่วงที่พรรณไม้นานาชนิดออกดอกบานสะพรั่ง ถ้าสนใจต้องติดต่อขอผู้นำทางจากอุทยานฯ และเตรียมอุปกรณ์ในการพักแรม และเสบียงอาหารให้พร้อมที่สุด ภายในเขตอุทยานฯ มีน้ำตกงาม ๆ อยู่หลายแห่ง ทั้งน้ำตกสร้อยสวรรค์ น้ำตกแสงจันทร์ น้ำตกทุ่งนาเมือง ชมน้ำตกให้สวยที่สุด น้ำมากที่สุด ต้องมาช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม กิจกรรมสบาย ๆ อีกอย่างหนึ่ง คือล่องเรือลำน้ำโขง ชมทิวทัศน์ และวิถีชีวิตของชาวบ้านริมสองฝั่งโขง มีให้เลือกหลายเส้นทางควรติดต่อจองล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์ (045)351015 ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง เมษายนเหมาะสุด ที่จะมาสัมผัสความงามของผาแต้ม

เส้นทางสู่อุทยานแห่งชาติผาแต้มนั้น หากใช้รถยนต์ส่วนตัวจากรุงเทพใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 แล้วต่อด้วยทางหลวงสาย 4 ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นใช้เส้นทาง 217 ไปถึงอำเภอพิบูลมังสาหาร สู่เส้นทางหมายเลข 2222 ถึงอำเภอโขงเจียม ตามด้วยทางหลวงหมายเลข 2134 ต่อด้วย 2112 และแยกขวาไปอุทยานฯ อีก 5 กิโลเมตร

หากเดินทางโดยรถโดยสาร สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2936-0244

หรือถ้าเดินทางโดยรถไฟ สอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 – 2223 – 7010

อีกทั้งยังเดินทางมาได้โดยทางเครื่องบินไปลงที่จังหวัดอุบลราชธานี สอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 – 2628 - 2000

อุทยานฯ ผาแต้ม ยังไม่มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว มีเพียงสถานที่กางเต็นท์ ห้องน้ำและห้องสุขา หากต้องการพักแรม ต้องเตรียมเต็นท์และเสบียงอาหารไปให้พร้อม ติดต่อสอบถามข้อมูลจากอุทยานฯ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (045)249780 ส่วนในอำเภอโขงเจียมก็มีที่พักให้เลือกหลายแห่ง สอบถามได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต2 หมายเลขโทรศัพท์ (045)243770-1